วิริยะ ไม่กังวลเคลมรถอีวี เล็งต่อยอดพัฒนาประกันเอไอ-ไซเบอร์ เชื่อมอีโคซิสเต็ม

นายภาคภูมิ วิริยะพันธุ์

วิริยะประกันภัย ไม่กังวลเคลมรถอีวี ส่วนใหญ่ยังเป็นการซ่อมสีตัวถังเป็นหลัก เผย 4 เดือนแรกปีนี้รับประกันรถอีวีไปแล้วกว่า 5,100 คัน คาดหวังสิ้นปีพอร์ตโต 100% ผนึกค่ายรถญี่ปุ่น-จีน 3 แบรนด์ พร้อมคาดหวังผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในไทยอีก 2-3 เจ้าปีนี้ เล็งต่อยอดพัฒนาโปรดักต์ประกันภัย “เอไอ-ไซเบอร์” เชื่อมอีโคซิสเต็ม

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายภาคภูมิ วิริยะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้า (EV CAR) ในประเทศไทย ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงออกสตาร์ตของทุกภาคส่วน ซึ่งวิริยะฯค่อนข้างมีความมั่นใจในการรับประกันและจัดซ่อม 100% ถ้าเกิดอุบัติเหตุยืนยันว่าสามารถจัดซ่อมได้อย่างไม่มีข้อครหา

เนื่องจากตอนนี้วิริยะฯมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยอายุของบริษัทที่อยู่มายาวนานกว่า 76 ปี สะท้อนประสบการณ์และความชำนาญในการรับประกันภัยรถยนต์ มีศูนย์บริการสินไหมกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ มีบุคลากรรองรับการบริการของผู้เอาประกันทั่วประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือมีเครือข่ายศูนย์ซ่อมมาตรฐานทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง

“แผนระยะสั้นของเราคือจะวางพื้นฐานโครงสร้างในการจัดซ่อมและสร้างการรับรู้เรื่องความปลอดภัยในการจัดซ่อมแบตเตอรี่ของรถอีวีให้กับคู่ค้า ส่วนแผนระยะยาวคงต้องมอนิเตอร์พัฒนาการของรถอีวีต่อไป เพราะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเกิดขึ้นรวดเร็วมาก”

โดยผลการรับประกันภัยรถอีวีในปี 2565 มีอยู่ประมาณ 5,000 คัน จากรถจดทะเบียน 20,000 คัน และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 รับประกันรถอีวีใหม่ไปแล้วกว่า 5,100 คัน จากรถจดทะเบียน 18,000 คัน โดยคาดหวังสิ้นปีนี้จะเติบโตเป็น 100% จากยอดเดิมที่มีอยู่ ด้วยพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตค่ายรถญี่ปุ่นและจีนที่มีอยู่กว่า 3 แบรนด์

และคาดหวังจากผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอีก 2-3 เจ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะมารองรับในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี โดยตอนนี้ค่าเบี้ยประกันรถอีวี ทางวิริยะจะคำนวณแพงกว่ารถสันดาปอยู่ประมาณ 10% แต่ในระยะยาวค่าเบี้ยจะถูกลงได้ตามต้นทุนของตัวแบตเตอรี่ที่จะลดลง

ทั้งนี้ สำหรับอัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีถือว่ายังไม่เป็นที่น่ากังวล หรือจัดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะเคลมส่วนใหญ่ยังเป็นเคลมซ่อมสีตัวถังเป็นหลัก อย่างไรก็ตามยืนยันว่าแม้จะเกิดการเคลมของตัวแบตเตอรี่ในอนาคตที่มากขึ้น จะไม่กระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุน เพราะค่อนข้างมีอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร

นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมประกันภัยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องเอไอ (Ai) มากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะทุกวันนี้ Ai ได้เข้าถึงตัวมนุษย์เรียบร้อยแล้ว ในต่างประเทศเข้าไปรู้ลึกถึงพันธุกรรมของมนุษย์ได้ ฉะนั้น ต่อไปวิริยะคงต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นด้วย

“ทุกวันนี้ทุกคนที่ใส่นาฬิกาแอปเปิ้ลวอช หรือใช้โทรศัพท์ไอโฟนและซัมซุง เป็นต้น ทุกอย่างเป็น internet of thing ที่ถูกบันทึกกิจกรรมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกันรถอีวีเองก็จะมีการบันทึกกิจกรรมการต่าง ๆ ของผู้ใช้งานด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในฝั่งของประกันภัยเองข้อมูลเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้ถูกแชร์ออกมาในวงกว้าง แต่ต่อไปถ้ามีการเชื่อมโยงในอีโคซิสเต็มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ ก็คาดหวังว่าอาจจะทำให้การเคลมลดลงได้ เพราะเราเรียนรู้พฤติกรรมของคนได้เยอะขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงอยู่ภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศด้วยในเรื่องพวกนี้” นายภาคภูมิกล่าว

รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาประกันภัยไซเบอร์ ที่ทำให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทมีความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าการอธิบายหรืองานขายอาจจะยากขึ้น โดยทุกวันนี้การเข้าอีเมล์ต้องมีการยืนยันตัวตน ซึ่งความซับซ้อนพวกนี้เป็นการปิดบังความลับ หรือปิดบังข้อมูลบางอย่าง เพื่อไม่ให้ถูกเปิดเผยออกไปสู่สาธารณะ ซึ่งต่อไปเรื่องพวกนี้อาจจะมาเกิดขึ้นกับรถยนต์ก็ได้ แต่ก็อาจจะทำให้จากความสะดวกสบาย เกิดความลำบากขึ้นได้เหมือนกัน

ในส่วนความคืบหน้าการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวีเป็นการเฉพาะ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่จะให้มีผลบังคับใช้ทันช่วงปลายปีนี้ ในมุมมองส่วนตัวคาดว่าไม่น่าจะทันปีนี้ เพราะทุกภาคส่วนคงต้องจับชีพจรของผู้บริโภคก่อนว่าจะไปในทิศทางไหน ฉะนั้น หากรีบออกอาจไม่เป็นผลดี ถ้าออกมาแล้วโดนกระแสสังคมต่อว่าก็อาจจะยุบไปก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างพูดคุยกันทั้งหน่วยงานกำกับ ภาคธุรกิจประกัน และสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานเอกชนใน 2-3 ประเด็นด้วยกัน