ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางความวิตกกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (14/3) ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2555 ที่ยอดค้าปลีกลดลง 3 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกปรับตัวลง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% โดยยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลง ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของยอดขายรถยนต์ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ปรับตัวขึ้น 0.1% ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบรายเดือนหลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคม โดยการดีดตัวของดัชนี PPI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในภาคบริการดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร พลังงาน และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือนหลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนมกราคม นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือนสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% เช่นเดียวกันในเดือนธันวาคม โดยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของสต็อกในภาคค้าปลีก และรถยนต์ ทั้งนี้ กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปรับตัวลดลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ ทำให้นักลงทุนมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา โดยในขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ 20-21 มีนาคม ขณะที่ CME Group ระบุว่า จากากรใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 86% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และครั้งที่ 3 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.13-31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.15/31.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (15/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2365/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (14/3) ที่ระดับ 1.2365/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยทางฝั่งยุโรปนั้น นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าขั้นตอนแน่นอนในการยกเว้นการเก็บภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าของสหรัฐจะออกมาในรูปแบบใด โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% จากประเทศต่าง ๆ ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 15 วัน ในขณะที่สหภาพยุโรปพร้อมใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2359-1.2384 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2359/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (15/3) เปิดตลาดที่ระดับ 106.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (14/3) ที่ระดับ 106.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความวิตกกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 105.79-106.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 106.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/3) ดุลการค้าเยอรมนี (9/3) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (9/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.5/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ