HSBC จ่อเพิ่มทุน 3.1 พันล้านบาท รุกธุรกิจรายใหญ่-มั่งคั่งในไทยเต็มสูบ

HSBC จ่อเพิ่มทุน 3.1 พันล้านบาท

ธนาคารเอชเอสบีซี เตรียมรุกธุรกิจในไทยเตรียมขออนุมัติเพิ่มทุน 3.1 พันล้านบาท ดันทุนจดทะเบียนเป็น 2.57 หมื่นล้านบาท รองรับลูกค้ารายใหญ่ขยายลงทุนในและต่างประเทศ พร้อมต่อยอดบริการลูกค้ามั่งคั่งจ่อขอไลเซนส์ให้บริการครอบคลุม พร้อมมองการเมืองไทยไม่กระทบการลงทุน หลังมองจีดีพีไทยโต 4.1%

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นายจอร์จโจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย หรือ HSBC เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2566 มองว่าจะขยายตัวได้ค่อนข้างดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ระดับ 4.1% ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ รวมถึงค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ไทยมีศักยภาพในการเติบโตและเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจต้องการเข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์สูงถึง 37% จึงคาดว่าในช่วง 2 ปีจากนี้จะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามามากขึ้น โดยธนาคารเห็นสัญญาณการเข้าซื้อกิจการ และการขายหุ้นเพิ่มทุน (IPO) รวมถึงควบรวมกิจการ (M&A) ของลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้น และขยายการลงทุนต่อไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ อีวี อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงภาคการผลิตอุปโภคและบริโภค เป็นต้น

นอกจากนี้พบว่าประเทศไทยมีคนชั้นกลางที่มีการเติบโตสูง 40% และกลุ่มที่มีสินทรัพย์สูง (HNW) จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าผู้มีสินทรัพย์สูงของไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 12.4% หรือราวประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2568 ซึ่งเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้จะผลักดันให้มีความต้องการบริการวางแผนจัดการความมั่งคั่ง การกระจายการลงทุน และการบริการธนาคารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

และมีอัตราการเติบโตทางดิจิทัลสูง 72% หรือมีคนทำธุรกิจเกี่ยวกับซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) สูงถึง 36 ล้านคน โดยธนาคารจะขยายธุรกิจไปให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศสู่ Digital Thailand Economy แม้ว่าจะมีปัจจัยทางการเมือง แต่เชื่อว่ายังไม่กระทบต่อภาคการลงทุน

ดังนั้น ธนาคารจึงมีแผนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเพิ่มทุนในไทยจำนวน 3,100 ล้านบาท หลังจากเพิ่มทุนจะทำให้ทุนจดทะเบียน (registered capital) เพิ่มจาก 22,600 ล้านบาท เป็น 25,700 ล้านบาท รวมถึงการขอใบอนุญาต (License) การจัดการกองทุนส่วนบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในส่วนของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

“จากแนวโน้มตลาดไทยที่มีศักยภาพ ทำให้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตธุรกิจในไทยต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสนับสนุนลูกค้าในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และธนาคารตั้งเป้ามุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งการเป็นธนาคารอันดับ 1 สำหรับธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับวางเป้าที่จะเป็นธนาคารต่างชาติอันดับ 1 สำหรับธุรกิจไทยและผู้มีสินทรัพย์สูงในการลงทุนและขยายความเสี่ยงการลงทุนในระดับภูมิภาคและระดับโลก”

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจผ่านจุดแข็งของธนาคาร ดังต่อไปนี้

1.International Connectivity ด้วยสาขาที่ครอบคลุมทั่วโลกและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จและเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมุ่งเปิดโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนให้กับลูกค้าในตลาดสำคัญที่ธนาคารมีความแข็งแกร่งโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง

2.Wealth & Private Wealth Offering – HSBC Global Private Banking ออกแบบมาเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าผู้มีสินทรัพย์สูง โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษา เพิ่มพูน และส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ จากความมั่นคงและความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลของเอชเอสบีซี ไม่เพียงเฉพาะในเรื่องการลงทุนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ

เช่น การให้บริการ credit advisory และบริการ wealth planning ตลอดจนการทำงานเป็นทีมกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น Wholesale Banking ในการต่อยอดการให้บริการอย่างครบถ้วนทั้งวงจรชีวิตของลูกค้า ทั้งนี้ ทำให้เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจ Global Private Banking ในประเทศไทยจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

3.Digital for Corporates – ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย วางเป้าที่จะเป็นธนาคารต่างชาติอันดับ 1 ในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลในประเทศไทย หลังเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ประชากรไทยถึง 72% มีความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2563 และยังครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีการชำระเงินผ่านระบบ Mobile Banking ของธนาคารสูงสุดของโลกในปี 2565

4.Sustainable Finance – ธนาคารเอชเอสบีซีวางงบประมาณด้าน Sustainable Finance ถึง 7.5 แสนเหรียญสหรัฐ ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 เพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าของธนาคารในภาคธุรกิจต่าง ๆ เร่งการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งวางเป้าที่จะเป็นธนาคารที่เป็นผู้นำด้าน ESG ในระดับสากล พร้อมนำเสนอโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างครอบคลุมให้กับลูกค้าองค์กรในประเทศไทย และมีเป้าหมายที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน ESG มาสนับสนุนส่งเสริมโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของลูกค้าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ESG ในระดับสากล

“ธนาคารเอชเอสบีซี ถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2431 และได้รับการยกย่องเป็น ธนาคารระหว่างประเทศที่ดีที่สุดของประเทศไทยเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน ในปี 2565 ธนาคารเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติ และมีผลกำไรก่อนหักภาษีสูงสุดในรอบระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตถึง 55%”