วิจัยกรุงศรี ส่องครัวเรือนรายได้ต่ำ 5 หมื่น มีเงินใช้จ่าย-ชำระหนี้ได้แค่ 3 ปี

หนี้ครัวเรือน

วิจัยกรุงศรี ประเมินตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5% หลังเดือน พ.ค. ตัวเลขออกมา 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เหตุฐานสูงปีก่อน-ราคาน้ำมันปรับลง-มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า ย้ำ ครัวเรือนใช้จ่ายจำกัดแม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น ส่องรายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท มีใช้จ่าย-ชำระหนี้ได้แค่ 3 ปี

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมของไทยชะลอลงเหลือเพียง 0.53% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. แนวโน้มเฉลี่ยทั้งปีอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ที่ 0.53% YoY (ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 1.7% และ 1.5% ตามลำดับ)

และชะลอลงจาก 2.67% ในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง (-11.3%) ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารบางชนิดมีการปรับลดลง อาทิ เนื้อสุกร และน้ำมันพืช

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.55% ชะลอลงจาก 1.66% ในเดือนก่อน สำหรับในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-พฤษภาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.96% และ 1.98% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมชะลอลงเร็วกว่าที่คาดและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-3% ในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องหรืออาจติดลบได้ในบางเดือนของช่วงที่เหลือของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงมากในปีก่อน ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม

Advertisment

วิจัยกรุงศรีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5% และเฉลี่ยทั้งปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ กนง.หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2 สิงหาคมนี้

แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นต่อเนื่อง แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่มีหนี้สูงและมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ในเดือนพฤษภาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นสู่ระดับ 55.7 จาก 55.0 ในเดือนก่อน เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ชัดเจน รวมถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงช่วยผ่อนคลายความกังวลเรื่องค่าครองชีพ

แม้การบริโภคในระยะข้างหน้าจะได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากทั้งดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจเป็นภาระเพิ่มเติมแก่ครัวเรือนที่มีความเปราะบางและมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย

โดยวิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนจำแนกตามระดับรายได้ ซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (รวมการชำระหนี้) ต่อรายได้และเงินฝาก พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ

Advertisment

โดยกลุ่มนี้มีอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสูงถึง 30% ของรายได้และเงินฝาก หรือสะท้อนว่าสภาพคล่องที่มีอยู่จะสามารถใช้จ่ายและชำระหนี้ได้เพียง 3 ปี โดยจำนวนกลุ่มครัวเรือนนี้มีมากถึง 85% ของครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่อเดือนสูง (มากกว่า 50,000 บาท) พบว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้และเงินฝากอยู่ที่ 6-17% บ่งชี้ว่าสภาพคล่องที่มีอยู่สามารถใช้จ่ายและชำระหนี้ได้นาน 5-10 ปี แสดงถึงความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 15% ของครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ยังแฝงอยู่แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น