บาทอ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

เงินบาทอ่อนค่า

เงินบาทอ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ชี้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 34.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/6) ที่ระดับ 34.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนพฤษภาคม

โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% จากระดับ 2.3% ในเดือนเมษายน และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.3% ในเดือนพฤษภาคม จากคาดว่าปรับตัวลง 0.1% จากหลังปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเมษายน

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.2% ในเดือนเมษายน และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนเมษายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสสูงมากกว่าคาด โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงส่งสำคัญ

ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี และเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า จากนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการการคลังของรัฐบาลที่อาจทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวมากกว่าที่ประเมินไว้โดยเฉพาะในปี 2567

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โดยคณะกรรมการฯเห็นพ้องว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงสูง และคาดว่าจะมีความหนืด (persistence) มากขึ้นกว่าในอดีต การส่งผ่านทางต้นทุนมากขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการจะพยายามปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่มากขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐอาจดำเนินการในระยะต่อไป

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.65-34.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.805/815 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 1.0841/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/6) ที่ระดับ 1.0805/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป เปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคมออกมาดีกว่าที่คาด โดยอยู่ที่ระดับ 1.0% จากคาดการณ์ที่ระบ 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ตลาดยังจับตาดูการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% จากระดับ 4%

นอกจากนี้ตลาดยังรอดูการให้ความเห็นของประธานธนาคารกลางยุโรปนางคริสติน ลาการ์ด ว่ามีมุมมออย่างไรต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและการใช้นโยบายการเงินในอนาคตเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0802/1.0844 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0842/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 140.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/6) ที่ 139.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าระหว่างวันมีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกประจำเดือนพฤษภาคมซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด โดยออกมาที่ระดับ 0.6% จากคาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.8% ขณะที่ตัวเลขนำเข้าออกมาดีกว่าที่คาดเช่นกัน โดยออกมาอยู่ที่ระดับ -9.9% จากคาดการณ์ที่ระดับ -10.3%

ทั้งนี้ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นโดยรวมยังแย่กว่าที่คาด โดยมียอดขาดดุลที่ระดับ 1,372 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 1,331 พันล้านเยน และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -432.4 พันล้านเยน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.93-141.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้คือ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ, ยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิถุนายนจากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีการผลิตเดือนมิถุนายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ, สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเมษายนของสหรัฐ และผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.75/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.5/-10.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ