เงินบาทผันผวน ตลาดติดตามการประชุมธนาคารกลางสำคัญตลอดทั้งสัปดาห์

ค่าบาท

ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดติดตามการประชุมธนาคารกลางสำคัญตลอดทั้งสัปดาห์ เฟดคงดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ขณะที่กนง.ของไทยชี้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในการจัดตั้้งรัฐบาลใหม่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (12/6) ที่ระดับ 34.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 34.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในวันอังคาร (13/6) กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อาจส่งผลต่อทิศทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

มติเฟดคงดอกเบี้ยนโยบาย

โดยตัวเลขดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 4.9% ในเดือนเมษายน ซึ่งปรับตัวขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.1% ซึ่งชะลอตัวลงจากราคาพลังงานที่ลดลง โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนั้นบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐ อาจพ้นจุดสูงสุดแล้ว

ส่วนทางด้านดัชนี CPI พื้นฐาน ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับเพิ่มขึ้น 5.3% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งชะลอตัวลงจาก 5.5% ในเดือนเมษายน ต่อมาในวันพุธ (14/6) เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนพฤษภาคม

โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% จากระดับ 2.3% ในเดือนเมษายน และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.3% ในเดือนพฤษภาคม จากคาดว่าปรับตัวลง 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเมษายน

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.2% ในเดือนเมษายน และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนเมษายน

ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 13-14 มิถุนายน เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00%

นอกจากนี้ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.6% หรือบ่งชี้กรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.6 ในช่วงสิ้นปี 2568 โดยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค.ที่ระดับ 4.3% และ 3.1% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปีดังกล่าว ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2.5%

กนง.ชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสักกะภพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% ในปี 2566 โดยได้รับปัจจัยมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือน รวมถึงภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกจะอยู่ที่ -0.1% และในปี 2567 จะอยู่ที่ 3.6%

ส่วนในวันพุธ (14/6) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งประชุมไปเมื่้อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสสูงมากกว่าคาด โดยมีภาคการท่องเที่ยวและภาคบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงส่งสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

และเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า จากนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการทางการคลังของรัฐบาลที่อาจทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวมากกว่าที่ประเมินไว้โดยเฉพาะในปี 2567

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในการจัดตั้้งรัฐบาลใหม่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โดยคณะกรรมการเห็นพ้องว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงสูง และคาดว่าจะมีความหนืด (persoisternce) มากขึ้นกว่าในอดีต การส่งผ่านทางต้นทุนมากขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการจะพยายามปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่มากขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐอาจดำเนินการในระยะต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.46-34.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (12/0) ที่ระดับ 1.0739/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 1.0758/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันอังคาร (13/6) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -8.5 ในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -13.1 จากระดับ -10.7 ในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ชะลอตัวสู่ระดับ 6.1% ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 จากระดับ 7.2% ในเดือน เม.ย.โดยมีสาเหตุจากการปรับตัวลงของราคาพลังงานและอาหารในวันพฤหัสบดี (15/6)

ECB ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

คณะกรรมการ ECB ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 8 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เพื่้อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ECB ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 6.1% ในเดือน พ.ค. ซึ่งยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0731-1.0962 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 1.0948/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (12/6) ที่ระดับ 139.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 139.62/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนเมษายน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต โดยเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ที่มีการขยายตัว 7.4% ถือเป็นการชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (15/6) มีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกประจำเดือนพฤษภาคมซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด โดยออกมาที่ระดับ 0.6% จากคาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.8% ขณะที่ตัวเลขนำเข้าออกมาดีกว่าที่คาดเช่นกัน โดยออกมาที่ระดับ 9.9% จากคาดการณ์ที่ระดับ -10.3%

ทั้งนี้ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นโดยรวมยังแย่กว่าที่คาด โดยมียอดขาดดุลที่ระดับ 1,372 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 1,331 พันล้านเยน และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -432.4 พันล้านเยน ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี ไว้ที่ราวระดับ 0%

มติการประชุมของ BOJ ในวันนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดย BOJ ในวันนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดย BOJ ยังคงมีมุมมองว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.05-141.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 140.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ