กรุงไทย เผยคนไทยใช้ Social Media 52.3 ล้านคน หนุนยอดอี-คอมเมิร์ซพุ่ง 6.94 แสนล้าน 

ธนาคารกรุงไทย เผยคนไทยเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตแตะ 61.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน ในรอบ 5 ปี และใช้ Social Media อยู่ที่ 52.3 ล้านคนเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ชี้ “Facebook-Line ยอดนิยมของคนไทย หนุนธุรกิจซื้อของออนไลน์พุ่ง คาดปี’66-67 มีมูลค่า 6.34-6.94 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีจำนวนผู้เข้าถึง Internet 61.2 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน จาก 47.5 ล้านคนในช่วง 5 ปีก่อนหน้า และมีจำนวนผู้การใช้ Social Media 52.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด โดยมีแรงผลักดันทั้งจากการดำเนินงานของผู้ให้บริการและการส่งเสริมของภาครัฐ

ในปัจจุบันประชากรไทยสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรทั้งหมดที่ขยายตัวจาก 67% ในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 85% ในปี 2566 ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักจาก 1) ผู้ใช้บริการภาคเอกชนที่มีการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ประกอบกับ 2) นโยบายของภาครัฐ อาทิ “โครงการเน็ตชายขอบ” ที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนอกเหนือ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ไทยมีความเร็วของ Internet อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก สำหรับ Fixed Broadband Internet และอันดับที่ 15 สำหรับ Mobile Internet โดยข้อมูลจาก Ookla ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการทดสอบความเร็ว Internet ระบุว่าประเทศไทยมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดข้อมูลด้วย Fixed Broadband เร็วที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองเพียง ชิลี จีน และสิงคโปร์

ขณะที่ Mobile Internet ของไทยมีความเร็วเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ซึ่งแม้จะตามหลังประเทศผู้นำอย่าง กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนอร์เวย์ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ในระดับ 140-180 Mbps อยู่ถึง 3.5-4.5 เท่าตัว แต่ยังถือว่าเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน Internet

สำหรับประเทศไทยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีจำนวนผู้ใช้ Social Media เพิ่มขึ้นจาก 51 ล้านคน ในปี 2562 มาอยู่ที่ 52.3 ล้านคน ในปี 2566 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด โดยมีข้อสังเกตว่า ผู้ใช้ Social Media ในปัจจุบันจะมีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายที่ 52.3% ต่อ 47.7% แตกต่างจากในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาที่สัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างมีความใกล้เคียงกัน

โดย Facebook และ Line ยังคงเป็น Social Media ยอดนิยมของคนไทย ขณะที่ Tiktok เริ่มมีแรงใน 1-2 ปีหลัง ทั้งนี้ ผู้ใช้ Social Media ในช่วงอายุ 34-44 ปี 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป ดูเป็นกลุ่มที่สนใจ เนื่องจากมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

และด้วยพฤติกรรมของคนไทยคงนิยมใช้ Internet และ Social Media ทำให้ผู้ประกอบการหันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่องปีละ 12.4% โดยข้อมูลจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT) และสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) ชี้ว่ามูลค่าการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์มีการขยายขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 12.4%

โดยมีมูลค่าสูงขึ้นจากราว 17,000 ล้านบาท ในปี 2561 (14% ของมูลค่าตลาดโฆษณาทั้งหมด) มาอยู่ราว 27,000 ล้านบาท ในปี 2565 (23%) สวนทางกับการโฆษณาผ่านช่องทางออฟไลน์ที่มีมูลค่าลดลงเฉลี่ยปีละ 3% ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การโฆษณาที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนจากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 12.4% ในช่วง 5 ปีหลัง สวนทางกับการโฆษณาออฟไลน์ที่หดตัว 3% ต่อปี อย่างไรก็ดี เราพบว่าบางอุตสาหกรรมยังมีโอกาสเพิ่มเม็ดเงินเพื่อการโฆษณาออนไลน์ให้มากขึ้นได้ อาทิ Real Estates, Restaurants และ Cosmetics

ทั้งนี้ คนไทยยังคงนิยมการซื้อสินค้า/บริการผ่านออนไลน์ โดยมีการประเมินว่าตลาด E-Commerce ในช่วงปี 2566-2567 จะมีมูลค่า 6.34-6.94 แสนล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยที่ปีละ 6%

โดยหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทาง E-Commerce มากขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1) กลุ่ม Personal & Household Care ซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวด Beauty และ Health อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดครัวเรือน

ซึ่งมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 36,000 ล้านบาท ในปี 2562 มาอยู่ที่ 139,000 ล้านบาท ในปี 2565 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% ในช่วงเวลาเดียวกัน

2) กลุ่ม Beverages ที่มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น จากราว 22,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 126,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2566 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น 2 เท่า เป็น 20% ในปี 2566 และ 3) กลุ่ม Foods ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 11,500 ล้านบาท ในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท ในปี 2566

โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนกลุ่ม Electronics พบว่าแม้ยอดขายจะขยายตัวตามตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ขึ้น แต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดในช่วง 5 ปีที่หลังที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 18%

กรุงไทย

กรุงไทย

กรุงไทย