เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนว 35.00 บาท จับตา 3-4 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท หุ้นไทย

เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 35.00 บาท แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งที่ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง SET Index ร่วงลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายอย่างหนักในหุ้นหลายกลุ่ม จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ถ้อยแถลงของประธานและเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมือง เครื่องชี้เศรษฐกิจและตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.ของไทย

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 35.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งที่ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส

อย่างไรก็ดีเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากประธานเฟดยังคงกล่าวย้ำถึงโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากสัญญาณเงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับทางการจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

กราฟเงินบาท-24 มิ.ย.2566

ในวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,913 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,838 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,549 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,289 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (26-30 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.85-35.55 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานและเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองเครื่องชี้เศรษฐกิจและตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือน พ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือน มิ.ย. ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือน มิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

กราฟหุ้นไทย 24 มิ.ย.66

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน โดยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ บรรยากาศตลาดในภาพรวมถูกกดดันจากประเด็นเฉพาะของบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล และแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance

ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,505.52 จุด ลดลง 3.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,473.82 ล้านบาท ลดลง 6.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.64% มาปิดที่ระดับ 463.22 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือน พ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. และดัชนี PMI เดือน มิ.ย. ของจีน