ฟื้นศรัทธา ตลาดทุนไทย ลงดาบ STARK-ล้อมคอกสกัดโกง

STARK

ประเด็นร้อนสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยอย่างหนัก นาทีนี้ต้องยกให้กรณี “STARK” หรือ “บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เนื่องจากมีผลกระทบต่อหลายฝ่าย ทั้งในแง่ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนรายใหญ่ ไปจนถึงผู้ลงทุนสถาบัน

ขณะเดียวกันหลักธรรมาภิบาลที่เพียรสร้างกันขึ้นมาที่ต้องป่นปี้ เพราะเคสนี้ ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงการทำหน้าที่ ไล่มาตั้งแต่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง หน่วยงานตรวจสอบบัญชี หน่วยงานจัดอันดับเครดิต ไปจนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ไล่ล่านำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษ

ร้อนถึงกระทรวงการคลัง ต้องออกโรงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งตรวจสอบ ชี้แจงข้อเท็จจริง และพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันเหตุดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ผนึก 11 หน่วยงาน ฟื้นเชื่อมั่น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏภาพการออกมานั่งแถลงข่าวร่วมกันของ 11 หน่วยงานด้านตลาดทุน ประกอบด้วย สำนักงาน ก.ล.ต., ตลท., สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD), สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน, ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)

นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยภาพความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

เสียหายเบื้องต้น 3.4 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นสูงถึง 34,725 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นที่ลงทะเบียนแจ้งความเสียหายต่อสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) จำนวน 1,759 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท

2.ความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นกู้รวม 5 รุ่น จำนวนผู้เสียหาย 4,528 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 9,198 ล้านบาท และ 3.ความเสียหายทางบัญชีที่สูงเกินจริงจากกรณีตกแต่งบัญชี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 21,464 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมความเสียหายของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และอื่น ๆ อีก

เดินหน้าเอาผิด-ชูแผนล้อมคอก

สำนักงาน ก.ล.ต. ชี้แจงว่า ได้มีการเข้าให้ข้อมูลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้น

โดย “ธวัชชัย พิทยโสภณ” รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเอาผิดกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินอันเป็นเท็จ ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ถือเป็นบทกำหนดโทษที่มีความรุนแรงพอสมควร

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มอำนาจในการให้ความเห็นชอบและขึ้นบัญชีดำกับสำนักงานผู้สอบบัญชีที่กระทำผิด จากปัจจุบันมีอำนาจเฉพาะการให้ความเห็นชอบและจัดการขึ้นบัญชีดำกับผู้สอบบัญชีเท่านั้น

ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุถึงการช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อย ในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และทำงานร่วมกับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น สมาคม บลจ. เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด รวมถึงการตรวจสอบการกระทำผิดของผู้เกี่ยวข้องเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการซื้อขายหุ้นที่อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ประกาศว่า จะยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตั้งแต่กระบวนการรับหลักทรัพย์เข้ามาจนถึงการดำรงอยู่ การทำให้ บจ.มีความเข้มแข็งขึ้น และจะมีการเพิ่มเครื่องหมาย C เพื่อเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่หุ้นอาจมีสัญญาณของปัญหาเกิดขึ้น

ด้านสภาวิชาชีพบัญชีฯ ยืนยันพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการสร้างความเชื่อมั่น โดย “สุพจน์ สิงห์เสน่ห์” เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ยืนยันว่าคณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพบัญชีไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ซึ่งหากพบว่าการทำงานของผู้สอบบัญชีของ STARK มีข้อบกพร่องจริง ก็จะถูกลงโทษตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการพักใช้ใบอนุญาต หรือแม้กระทั่งการเพิกถอนใบอนุญาต

ส่วน “บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด” ชี้ว่า กรณี STARK เป็นความเสี่ยงในด้านการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ทำให้การอาศัยข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์เกิดการคลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบต่อนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทที่ต้องมีการจัดอันดับเครดิตบริษัท เพื่อรองรับการออกหุ้นกู้

ซึ่ง “ศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง” กรรมการผู้จัดการ ทริสฯ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ทริสฯ จะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสามารถเป็นที่มั่นใจให้กับนักลงทุนประกอบการพิจารณาในการลงทุน

โดยทริสฯ จะให้ความระมัดระวังและตั้งข้อสังเกตในการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะบริษัทที่มีการทำ backdoor listing ที่จะมีการเพิ่มความเข้มงวดในการสกรีนข้อมูลบริษัทที่จะมาจัดทำเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่มีลักษณะที่เน้นการเติบโตด้วยการซื้อกิจการ

“บริษัทพวกนี้อาจจะไม่ได้เป็นการเติบโตโดยการสร้างธุรกิจของตัวเอง แต่สร้างการเติบโตขึ้นมาจากการซื้อกิจการเพื่อมุ่งเน้นไปที่ราคาหุ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ทางทริสเรทติ้งให้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อมูลประกอบการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งมากขึ้น”

จี้เร่งลงโทษคนผิดฟื้นเชื่อมั่น

ด้าน “วิชัย วชิรพงศ์” หรือ “เสี่ยยักษ์” เซียนหุ้นชื่อดัง กล่าวว่า การที่ 11 หน่วยงานตลาดทุน จับมือแถลงข่าวกรณี STARK เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยนั้น ภาพก็ค่อนข้างออกมาดูดี แต่มองว่ายังไม่สามารถจะฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เพราะจากที่ติดตามยังไม่มีอะไที่ออกมาเป็นรูปธรรมเลย หมายความว่ายังไม่มีการสังคายนา หรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ ทั้งที่ทราบว่า ผู้บริหารมีเจตนาไม่ดี

“ควรจะต้องมีการลงโทษที่จริงจังโดยเร็ว เพื่อให้เป็นเคสตัวอย่าง และไม่ให้เกิดการเลียนแบบ สำหรับผู้ถือหุ้น STARK จริง ๆ เราระวังตัวเองได้ แต่เคสผู้ถือหุ้นกู้ค่อนข้างน่าสงสาร เพราะมีคนวัยเกษียณที่นำเงินไปลงทุน อย่างถ้าลงทุนไป 3 ล้านบาทแล้ว โดนโกง ตอนนี้ความมั่นใจหายไปหมด”

ค่อนข้างชัดเจนว่า สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด ก็คือ การลงดาบคนโกงให้หนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกนั่นเอง