ทรีนีตี้มองหุ้นไทยฟื้นไตรมาส 4 เป้าดัชนี 1,600 จุด

ทรีนีตี้

บล.ทรีนีตี้ชี้หุ้นไทยไตรมาส 3 ผันผวนปรับลด แนะหุ้นลงเป็นจังหวะเข้าซื้อ ชูหุ้นเด่นอิง Megatrend-เติบโตดี ลุ้นดัชนีฟื้นไตรมาส 4 รับอานิสงส์การเมืองชัดเจน-ดอกเบี้ยเฟดผ่านจุดพีก ให้เป้าดัชนีสิ้นปี 1,600 จุด

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งหลังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังในปลายไตรมาส 3 จะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยในทันที ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนที่เป็นลบ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี

โดยทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 จาก 1.การอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐและเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1 ปี 2567 และ 2.มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะทำผลงานได้ดี (Outperform) ในไตรมาส 4 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest Shock น้อยกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนา ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3 นี้

3.มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้ว แต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3

ทั้งนี้การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ขณะที่นักลงทุนขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.3 หมื่นล้านบาท หลังจากที่การเลือกตั้งผลออกมาผิดคาด อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศน่าจะเริ่มชะลอลดลงในช่วงไตรมาส 4

ในส่วนของปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจคือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของ GDP รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 ล้านดอลลาร์ อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของภาคการส่งออกในไตรมาส 4 ปีนี้

“ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิดโควิด-19 รอบ 2 ในกลางปี 2564 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า”

ด้านกลยุทธ์มองว่าการลงทุนใน Megatrend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้งจากปีก่อน (YOY) และไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ในไตรมาส 2 เช่น BBL, BEM, CPALL CPAXT, KTB, MINT และมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)

นอกจากนี้คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ ไตรมาส 3 ที่บริเวณ 1,552 จุด ส่วนสิ้นปีให้เป้าไว้ที่บริเวณ 1,600 จุด และประเมินจุดต่ำสุดที่ 1,450 จุด ซึ่งหากดัชนีจะสามารถทะลุ 1,600 จุดไปได้มองว่าจะต้องเกิดปัจจัยอย่างเช่นเฟดต้องถอนการขึ้นดอกเบี้ยทันที และดอกเบี้ยต้องลดลงเร็ว ดัชนีถึงจะดีดตัวขึ้นได้แรง

ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดพอร์ตการลงทุนซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับแนวทางการลงทุนของตัวนักลงทุนแต่ละคนซึ่งก็จะแตกต่างกันไป แต่ถ้าแนะนำก็จะให้ในพอร์ตมีการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี 40% หุ้นไทย 20% หุ้นนอก 20% ทองคำ 10% และถือเงินสด 10%