เคทีซี ประเมิน “แก้หนี้เรื้อรัง” ทุบรายได้ดอกเบี้ย 18 ล้านบาท/เดือน

หนี้เรื้อรัง

เคทีซี ประเมินกรณี ธปท. เตรียมบังคับใช้มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง โฟกัสกลุ่มรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน คาดฉุดรายได้ดอกเบี้ยลดลง 18 ล้านบาทต่อเดือน

วันที่ 22 กรกฎาคม 2566 นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว โดยอันดับแรกธปท. จะออกมาตรการกำหนดเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending: RL) สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพและเพียงพอ ในส่วนของลูกหนี้ใหม่ต้องไม่โฆษณากระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมอย่างเกินตัว ซึ่งธปท. จะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567

สำหรับหนี้ปกติที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) จะสร้างทางเลือกให้ลูกหนี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ปิดจบการเป็นหนี้ได้ ซึ่งธปท. มุ่งให้ความสำคัญกับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน และมีเกณฑ์การบ่งชี้ว่าลูกหนี้ดังกล่าวมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธปท. จะให้มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2568 นั้น

เคทีซีจะให้ทางเลือกแก่ลูกหนี้ที่สนใจ สามารถเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนมาเป็นแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดยจะกำหนดให้การผ่อนชำระสามารถปิดจบภายใน 5 ปี ซึ่งลูกหนี้ต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการด้วยตนเองและปิดวงเงินเดิมที่มีอยู่

“เคทีซีได้ประเมินผลกระทบต่อมาตรการดังกล่าว หากลูกหนี้เคทีซีที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการฯ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน”