เงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามภูมิภาค หลังตัวเลขดุลการค้าไทยเป็นบวก

ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามภูมิภาค หลังตัวเลขดุลการค้าไทยเป็นบวก เกินดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนรอดูผลประชุมเฟดคืนนี้ และให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% 

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/07) ที่ระดับ 34.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/07) ที่ระดับ 34.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางแข็งค่าตามภูมิภาค รวมถึงได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้นักลงทุนรอดูผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ช่วงกลางดึกคืนนี้ และรอฟังถ้อยแถลงของประธานเฟดหลังประชุมว่าจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตอย่างไร โดยนักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.26-5.50% ในการประชุมคืนนี้ และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

แต่อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนยังขัดแย้งกับความเห็นของสมาชิกเฟดหลาย ๆ ท่านที่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ส่วนตัวเลขที่สำคัญของทางสหรัฐเมื่อคืน ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.จาก Conference Board ที่พุ่งขึ้นจาก 110.1 ในเดือน มิ.ย.สู่ 117 ในเดือน ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 111.8

โดยดัชนีได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานสหรัฐที่อยู่ในภาวะตึงตัวอย่างต่อเนื่อง และจากการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ปัจจัยเหล่านี้ช่วยหนุนแนวโน้มที่ดีของเศรษฐกิจในระยะใกล้ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟด

Advertisment

นอกจากนี้เอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ซิลเลอร์ บ่งชี้ว่าราคาบ้านในสหรัฐปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐลดลง 0.5% ในเดือน พ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระหว่างวัน หลังกระทรวงพาณิชย์เผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มิ.ย. 66 การส่งออกมีมูลค่า 24,826 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.4% เมื่อเทียบรายปี หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ -7.3% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์ -10.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน มิ.ย. 66 ไทยเกินดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกของไทยคือการบริโภคสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นต่อเนื่องและการเติบโตของการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่ยังคงไม่แน่นอน ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยังเป็นช่วงสุญญากาศที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.23-34.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/7) ที่ระดับ 1.1042/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/7) ที่ระดับ 1.1065/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยผลสำรวจของธนาคารขนาดใหญ่ 158 แห่ง ประจำไตรมาสพบว่า ความต้องการสินเชื่อของบริษัทในยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่แล้ว และอาจจะลดลงอีกในช่วงฤดูร้อนนี้ เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ยังคงคุมเข้มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อ

นอกจากนี้ยูโรยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของสถาบัน Ifo ที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงจาก 88.6 ในเดือน มิ.ย. สู่ 87.3 ในเดือน ก.ค.โดยร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และในสัปดาห์นี้นักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะจัดประชุมในวันที่ 27 ก.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1036-1.1079 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1073/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/7) ที่ระดับ 141.01/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/7) ที่ระดับ 141.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจัดการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์ที่ว่า บีโอเจจะปรับรายละเอียดในนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.25-141.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิถุนายนของสหรัฐ (EIA) (26/7), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (26/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/7), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 (27/7) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน มิ.ย. (28/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.30/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.20/-12.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ