สรรพากรล้างบาง “ใบกำกับภาษีปลอม” ขายเศษเหล็กยันรถมือสอง

ใบกำกับภาษีปลอม

อธิบดีสรรพากรเอาจริง ดัดหลังโกงภาษี “ออกใบกำกับปลอม” จ่อนำระบบตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง มาใช้ เริ่มนำร่องธุรกิจค้าเศษเหล็ก หลังพบมีการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอมมากที่สุด โดยดึงโรงหลอมเศษเหล็กกว่า 100 รายเข้าร่วม ด้วยการให้ออกใบกำกับภาษีทั้งภาษีซื้อและภาษีขาย พร้อมหักภาษีนำส่งสรรพากร อนาคตพร้อมขยายไปถึงธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสองโดนด้วย

การปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในธุรกิจค้าเหล็กกำลังกลายเป็นปัญหาทุจริตใหญ่ที่ยืดเยื้อมานาน หลังจากที่กรมสรรพากรตรวจพบว่า ธุรกิจรับซื้อของเก่าและรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจรับซื้อเศษเหล็ก ได้เกิดการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มจากวงจรที่เริ่มจากผู้รับซื้อเศษเหล็กรายย่อย (ซาเล้ง) ออกไปรับซื้อเศษเหล็กนำไปส่งให้โรงรวบรวมเศษเหล็ก ซึ่งอาจจะรับซื้อเศษเหล็กจากผู้ค้าทั้งรายเล็ก-รายใหญ่

หลังจากนั้นโรงหรือผู้รวบรวมเศษเหล็กก็จะขายเศษเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก เพื่อส่งต่อหรือแปรสภาพเป็น “เหล็กเส้น” ต่อไป โดยมีข้อน่าสังเกตว่า โรงหลอมเศษเหล็กแล้วรีดออกมาเป็นเหล็กเส้นนั้นปัจจุบันกว่าครึ่งหนึ่งเปิดดำเนินการโดยบริษัทจีน โดยทำแบบครบวงจร

ทั้งนี้ช่องโหว่ในการ “ปลอม” ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จับได้จะเกิดขึ้นในขั้นตอนของบริษัทหรือผู้รวบรวมเศษเหล็ก ในฐานะผู้ขายเศษเหล็กให้กับโรงหลอม จะเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขายให้กับโรงหลอม ทำให้ผู้ขายมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ที่ผ่านมาปรากฏมีการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ รวมไปถึงไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับ

โดยเหตุผลหนึ่งที่ตรวจพบการปลอมใบกำกับภาษีก็คือ การแจ้งรายการขาย (เศษเหล็ก-เหล็กเส้น) ไม่สอดคล้องกับอัตราการใช้ไฟฟ้าในการผลิตของโรงงาน จนทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบพิรุธนำมาซึ่งการตรวจสอบพบกระบวนการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในที่สุด

โรงหลอมเศษเหล็กออกใบกำกับ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งยกร่างกฎหมายที่จะนำ “ระบบการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง (reverse charge VAT)” มาใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหา “ใบกำกับภาษีปลอม” โดยจะเริ่มที่ธุรกิจ “กิจการค้าของเก่าและรีไซเคิล” ก่อน เนื่องจากคดีใบกำกับภาษีปลอมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กว่า 50% มาจากธุรกิจนี้ โดยกรมตั้งใจว่าจะเริ่มใช้ระบบตรวจสอบย้อนหลังได้ตั้งแต่ต้นปี 2567

ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือเป็นภาษีที่สำคัญ จัดเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกรมสรรพากร โดยจัดเก็บได้ปีละกว่า 700,000 ล้านบาท ซึ่งหากแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอมได้ ก็จะทำให้มีเม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกมาก

“ตอนนี้คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องหมดแล้ว ภาคธุรกิจก็โอเค ซึ่งแนวทางก็คือ เราจะเก็บทอดสุดท้าย โดยให้ธุรกิจ โรงหลอมเหล็ก ที่เป็นทอดสุดท้ายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อและภาษีขาย พร้อมกับหักภาษีนำส่งให้กรมสรรพากรทั้ง 2 ขา ก็จะได้ภาษีอย่างถูกต้อง ไม่รั่วไหล ช่วยลดปัญหาที่ต้องทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคดีใบกำกับภาษีปลอมลงได้มาก เพราะปกติคดีนี้เป็นคดีที่สรรพากรไม่ยอมความอยู่แล้ว ต้องดำเนินคดีไปถึงที่สุด” นายลวรณกล่าว

โดยที่ผ่านมา การเก็บ VAT แบบปกติ ในกรณีธุรกิจค้าของเก่าและรีไซเคิลนี้ “ค่อนข้างจะมีปัญหา ตรวจสอบยาก” เนื่องจากต้นทางจะเป็นกลุ่มผู้เก็บของเก่าหรือซาเล้ง ทำให้การไปบังคับให้ออกใบกำกับภาษีทำได้ลำบาก แต่ระบบภาษี VAT มีข้อกฎหมายที่เปิดทางให้สามารถทำกลับทางกันกับการเก็บ VAT ธุรกิจอื่นทั่วไปได้

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ประกอบธุรกิจที่ดีก็ต้องติดร่างแหไปด้วย เนื่องจากได้รับใบกำกับภาษีที่เป็นใบกำกับปลอมมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อกรมสรรพากรตรวจสอบดำเนินคดีก็ต้องโดนไปด้วย ดังนั้นหากนำระบบนี้มาใช้ คนที่ทำดีอยู่แล้วก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องติดร่างแหไปด้วย

“โรงหลอมเหล็ก ปัจจุบันมีอยู่ราว ๆ 100 โรงงาน ก็จะเป็นคนหักภาษีนำส่งให้กรมสรรพากร โดยขณะนี้กำลังเร่งออกพระราชกฤษฎีกาอยู่ ทำเร็วแน่นอน ซึ่งจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่เป็นเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้ประเมินเป็นเม็ดเงิน” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า นอกจากธุรกิจค้าของเก่าและรีไซเคิลแล้ว ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำระบบ reverse charge VAT ไปใช้กับธุรกิจ “ขายรถยนต์มือสอง” ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการเก็บ VAT อยู่เช่นกัน

ถกระบบ Reverse Charge VAT

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานอนุกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้คณะอนุกรรมาธิการได้เชิญกรมสรรพากร ตัวแทนจากหน่วยงานอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็กมาให้ข้อมูล จากกรณีที่กรมสรรพากรเตรียมจะนำระบบ reverse charge VAT มาใช้กับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการออก “ใบกำกับภาษีปลอม” หรือการออกใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งออกโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายหรือมีอำนาจในการออกใบกำกับภาษี

ส่งผลให้ผู้ที่นำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้โดยไม่รู้ว่า ไม่ถูกต้องและไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด” ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการที่กรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้ผู้ใช้ต้องเสียค่าปรับและเบี้ยปรับเพิ่ม ตลอดจนเกิดปัญหาคดีความ

“กรณีปัญหานี้ได้ตรวจสอบจากการลงพื้นที่เมื่อ 2 ปีก่อน โรงงานเตาหลอมที่รับซื้อหลายพื้นที่ ซึ่งรับซื้อเศษเหล็กจากผู้ประกอบการหลาย ๆ แห่ง เท่าที่พบโรงงานเตาหลอมขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะขนาดเล็กบางราย (ผู้รวบรวมเศษเหล็ก) ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะยอดขายไม่ถึง 1.8 ล้านบาท/ปี เช่น ซาเล้ง หรือบางรายตั้งบริษัท แต่ออกใบกำกับภาษีแบบไม่ควอลิฟาย ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนมากพอสมควร และล่าสุดรายที่มีการตรวจสอบย้อนหลังใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องที่เป็นคดีความมีจำนวนมาก โดยมูลค่าความเสียหายในแต่ละคดีเยอะพอสมควร หลักสิบล้านบาท” นายเจนกล่าว

สำหรับการเชิญกรมสรรพากรมาให้ข้อมูล เนื่องจากเท่าที่คณะอนุกรรมาธิการรับทราบข้อมูลมาว่า การเตรียมการทำระบบ reverse charge VAT มาใช้นั้น “ยังไม่มีความชัดเจน” เพราะทำให้เหมือนมีลักษณะที่ “โยนภาระ” ภาษีซื้อหรือภาษีขาย หรือการออกใบกำกับไปให้กับผู้ใช้หรือผู้ขาย “ปลายน้ำ”

ผลจากการเชิญมาให้ข้อมูล กรมสรรพากรอธิบายว่า ระบบ reverse charge VAT นั้น “ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการใช้อยู่แล้ว” เช่น โรงงานที่รับซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งผู้ขายไม่ได้มีภาระที่จะต้องเสียหรือออกใบกำกับภาษี แต่เป็นหน้าที่ของ “ผู้นำเข้า” เป็นผู้เสียภาษีทั้งภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ฉะนั้นลักษณะเดียวกันคือ แทนที่จะให้ผู้ขายเศษเหล็กเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีคือถือว่าไม่ใช่การออกใบกำกับภาษีแล้ว แต่เป็นการออกแบบฟอร์ม พพ.36 ที่มีการรายงานว่า มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ตอนที่นำเข้าหรือซื้อวัตถุดิบ เป็นจำนวนเงินเท่านี้แล้วก็ไปหักกลบกับภาษีขายที่จะต้องนำส่ง

ฉะนั้นเมื่อทราบว่า กลไกระบบ reverse charge VAT มีอยู่แล้วก็ถือว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้” แต่คำถามคือ กลไกนี้จะสร้างความยุ่งยากในการนำมาใช้หรือไม่

ข้อสังเกตของ กมธ.

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียดและขั้นตอนในทางปฏิบัติไป 2-3 เรื่อง เช่น คนที่ซื้อจะต้องรู้ว่า ผู้ประกอบรายนี้ ออกใบกำกับภาษีได้ไหม ถ้าสมมุติว่า “ไม่ได้” ก็ควรจะใช้ระบบนี้เป็นทางเลือกหรือไม่ หรือจะต้องปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน

หมายถึง คนที่ขายเศษเหล็กให้โรงหลอมโลหะที่อยู่นอกระบบ VAT สิ่งที่ขายไปก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี และสิ่งที่รับซื้อมาก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี ส่งผลให้ผู้ขายเศษเหล็กหลุดออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำให้ภาระนี้จะตกไปสู่ความรับผิดชอบของ “โรงหลอมเหล็ก” หรือผู้ใช้ช่วงปลาย ดังนั้นหากผู้ขายรู้ตัวว่า ออกใบกำกับได้หรือไม่ก็จบ

อีกด้านหนึ่ง หากคนขายไม่ได้ขายเฉพาะเศษเหล็กอย่างเดียว แต่มีขายสินค้าอื่น เช่น ขายเหล็กเส้นให้กับบริษัทก่อสร้างด้วย ซึ่ง “บริษัทก่อสร้าง” ยังอยู่ในระบบ VAT ไม่ได้ใช้ reverse charge VAT ฉะนั้นก็กลายเป็นว่า บริษัทนั้นก็ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับเหล็กที่ขายให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างหรือโครงการก่อสร้าง เป็นต้น

ซึ่งเริ่มมีทางเลือกและมีความซ้ำซ้อนมากขึ้นว่า การขายให้กับผู้ซื้อแต่ละรายจะดำเนินการไม่เหมือนกัน ซึ่งความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรจะต้องไปหาวิธีเพื่อการทำงานของระบบนี้ เกิดขึ้นได้ง่ายและไม่ซับซ้อน ไม่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งจะนำไปสู่การบกพร่องโดยสุจริต หรืออาจจะกลายเป็นช่องโหว่ที่ว่า คนที่เคยอยู่ในระบบ VAT หลุดออกไป ทำมาหากิน ได้เปรียบคนอื่น โดยที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะต้องมีการหารือกัน

นอกจากนี้ยังได้ฝากข้อกังวลไปยังกรมสรรพากร เช่น เราเป็นโรงหล่อเหล็ก ทำเหล็กเส้น เหล็กคาน บีม ซึ่งเวลาหล่อจะมีเศษเหล็ก ส่วนที่เหลือจากการหลอม แล้วก็นำไปจำหน่าย ซึ่งกรณีนี้หากเขาขายให้บริษัทตัวเองหรือใช้เองก็จบไป แต่หากนำไปขายให้บริษัทในเครือที่รับซื้อเศษเหล็ก เรื่องนี้มีวิธีการดำเนินหรือมีวิธีการใช้ใบกำกับภาษีหรือออกใบกำกับภาษีอย่างไร มีรายละเอียดที่เยอะที่จะต้องหารือ

เงินค่าปรับเท่าทวีคูณ

สำหรับผลที่เกิดขึ้นเมื่อตรวจพบมีการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับใบกำกับภาษีปลอมมาโดยไม่รู้ตัว และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายจะมีขั้นตอนคือ 1) จะต้องเสียภาษีก่อน 2) เสียค่าปรับ อัตราเป็น 2 เท่าของภาษีที่เสีย เช่น ใบกำกับภาษี 100,000 บาทก็ต้องจ่ายภาษี 100,000 บาท บวกกับค่าปรับ 2 เท่าอีก 20,000 บาทรวมเป็น 30,000 บาท

และ 3) เมื่อมีการตรวจสอบย้อนหลังตามกฎหมายสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง 5 ปี และมี “เงินเพิ่มจากค่าปรับ” คิดในอัตราเดือนละ 1% เช่น ภาษี 100,000 บาท เดือนละ 1% คือ เพิ่ม 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าพบหลังจากผ่านไปหลายปีก็คูณไปอีก แต่ละเคสเป็นสิบล้านบาท

“จะคิดว่าตรวจสอบย้อนหลัง มีรายได้จากค่าภาษีและค่าปรับ และเงินเพิ่มที่ได้เข้าสรรพากรก็มองได้ แต่ในมุมนักลงทุนจะเข็ดขยาด เพราะไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรพอเอาใบกำกับภาษีไปใช้ตามปกติโดยที่ไม่รู้ว่าออกมาถูกต้องไหม หรือคนที่ออกมีสิทธิไหม พอพ้นไป 5 ปีค่อยมาตรวจสอบย้อนหลังเจอค่าปรับ ซึ่งบางบริษัทเป็นบริษัทในตลาด แบ่งปันผลให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจะไปนำกลับมาก็คงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความเสี่ยงของประเทศ ในมุมของนักลงทุน ถ้าประเทศเรามีความเสี่ยงเยอะ ๆ ก็อาจจะมีผลต่อการลงทุนได้ ดังนั้นการเห็นเตรียมใช้ระบบรีเวิร์สชาร์จมาใช้ เราก็เห็นด้วย แต่ต้องปรับในทางปฏิบัติ” นายเจนกล่าว