“ยรรยง” ขุนพลใหม่พลิก EIC เจาะลึกหนี้ครัวเรือน-เอสเอ็มอี

เพิ่งเปิดตัวไปไม่ถึงเดือน หัวเรือใหม่ของ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ” หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้ “ยรรยง ไทยเจริญ” นั่งแท่น “รองผู้จัดการใหญ่” ผู้บริหารสูงสุดดูแล EIC มาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นมือดีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ดูด้านนโยบายการเงิน และตลาดทุน ฝีมือดีชนิดหาตัวจับยาก

“ยรรยง” เล่าให้ฟังว่า ถูกชักนำโดยหัวเรือใหญ่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB ที่ทาบทามกันมาหลายเดือนก่อนหน้าแล้ว ซึ่งสาเหตุที่เขาตัดสินใจมา EIC ทั้งที่ยังผูกพันกับ ธปท.มาก เพราะเป็นนักเรียนทุน ธปท. ที่ได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานอยู่ในรั้ววังบางขุนพรหมอีก 15 ปี แต่จากคำสอนของ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” อดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่เคยกล่าวไว้ว่า การจะช่วยประเทศไม่จำเป็นต้องอยู่ ธปท.ก็ได้ ก็สามารถช่วยประเทศให้เข้มแข็ง ผ่านการทำประโยชน์ให้กับภาพรวมได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ตนเองอยากออกมาหาความรู้ใหม่ ๆ

สำหรับบทบาทของ EIC ที่อยากเห็นนั้น “ยรรยง” กล่าวว่า ตนอยู่ในสายนโยบายการเงิน คลุกคลีมากับตัวเลขเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่ “อาทิตย์” ดึงตนเข้ามา ก็เพื่อทำให้ EIC สะท้อนภาพเศรษฐกิจเชิงลึกมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงลึกขึ้น

โดยเขาขยายความว่า ภาวะ “หนี้ครัวเรือน” ของไทย ถือว่าชะลอตัวมา 5-6 ไตรมาสแล้ว สะท้อนว่าภาคครัวเรือน เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น อดีตที่เห็นหนี้ครัวเรือนขาขึ้นตลอด 3-4 ปีก่อนหน้านั้น เพราะหนี้ครัวเรือนเร่งตัวกว่ารายได้ คนไทยมีการก่อหนี้สูงกว่ารายได้ แต่พอปัจจุบันหลายฝ่ายเข้ามาช่วยดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทั้งสถาบันการเงินที่ระวังการปล่อยกู้ ภาคประชาชนก็ก่อหนี้น้อยลง ซึ่งอาจจะมาจาก 2 สาเหตุ นั่นคือหนี้เต็มเพดาน หรือคนเริ่มตระหนัก และระวังการใช้จ่าย จึงเป็นเหตุให้เห็นหนี้ครัวเรือนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ถัดไปที่อยากเห็นบทบาทของ EIC คือ ภายใต้เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นมากมาย อยากเห็นแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับ stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ทั้งจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ลูกค้าแบงก์เอกชน สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อทำให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร ทำให้ภาคธุรกิจสามารถนำสิ่งที่วิเคราะห์ไปใช้ตัดสินใจ หรือใช้เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้

Advertisment

“ที่ผ่านมา EIC เน้นวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค และ industry (ภาคอุตสาหกรรม) แยกจากกัน แต่ปัจจุบันเมื่อมีเมกะเทรนด์เกิดขึ้น เหล่านี้ก็ต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน และนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจมากที่สุด ทั้งเอาภาพการลงทุน การส่งออก การย้ายฐานการเงิน หรือการวิเคราะห์ไปถึงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ให้เห็นภาพที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้ข้อมูลมากขึ้น”

อีกด้านที่หนีไม่พ้น คือ การ disrupt จากเทคโนโลยี ที่มีฟินเทคเข้ามาในระบบการเงิน จริง ๆ แล้วจะมีผลในวงกว้างกว่านี้มาก จึงอยากวิเคราะห์ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การถูก disrupt มีผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ การจ้างงาน ฯลฯ อย่างไร

แม้แต่ด้านเวลท์ หรือการบริหารเงิน เพิ่มความมั่งคั่งให้ลูกค้า ก็เป็นสิ่งที่ EIC ต้องทำให้ภาพชัดขึ้นว่า ภายใต้ดอกเบี้ยที่ต่ำ การออกไปลงทุนต่างประเทศก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ปัจจุบันคนที่ออกมาจากเงินฝาก อาจยังไม่มีความรู้เพียงพอกับการลงทุนที่หลากหลาย จึงอยากสร้างประโยชน์แก่คนที่ต้องการข้อมูลมากขึ้น

“จุดแข็งของ EIC คือ อยู่ในแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ มี stakeholder ที่กว้าง และข้างในเรามีผู้เชี่ยวชาญทุกด้านที่เกี่ยวกับระบบการเงิน ครบวงจร ดังนั้นก็ต้องทำงานกับพาร์ตเนอร์ จะทำให้เราเห็นข้อมูลใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ก็สามารถกลั่นกรองเป็นมุมมอง หรือสร้างอินไซด์ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้ เราจึงอยากเน้นจุดแข็งตรงนี้มากขึ้น” นายยรรยงกล่าวทิ้งท้าย

Advertisment