CPALL ตั้งงบฯ 4 พันล้าน เปิด 7-Eleven สาขาใหม่ 700 แห่ง ในปี 2566

7-Eleven

CPALL ตั้งงบฯลงทุน 3.8-4 พันล้านบาท เปิด 7-Eleven สาขาใหม่ 700 แห่ง พร้อมทุ่มอีก 2.9-3.5 พันล้านบาท รีโนเวตร้านเดิม ลุยเปิดสาขาในกัมพูชาให้ครบ 100 สาขาปีนี้ บุกสาขาแรกใน สปป.ลาว

วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในปี 2566 บริษัทวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปีนี้ จะใช้งบประมาณเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านสาขาในประเทศกัมพูชาให้ครบ 100 สาขา โดยจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2566 บริษัทมีสาขาทั้งในกรุงพนมเปญและจังหวัดรอบนอก รวมทั้งสิ้น 66 สาขา นอกจากนี้จะเปิดสาขาแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2566 อีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่น ๆ อาทิ 7-Delivery, All Online และ Vending Machine ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น

โดยบริษัทตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค

สำหรับประมาณการงบฯลงทุนในปีนี้ คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท

  • การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท
  • การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท
  • โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท
  • สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท