เอเวอร์แกรนด์ล้ม-ฟิทช์เล็งหั่นเครดิต จีนยังเดินหน้าฟื้นเสถียรภาพระยะยาว

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ข่าวการล้มละลายของ Evergrande ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ และข่าวที่ฟิทช์ ขู่หั่นเรทติ้งจีนอีกยิ่งตอกย้ำว่า ‘ตลาดหุ้นจีน’ ปีนี้ แลดูจะไม่สดใส ทั้งที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกก็สามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูง สวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ที่ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจลูกผีลูกคน ด้านเฟดหรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังไม่ส่งสัญญาณจะยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด เพราะยึดเป้าหมายต่อสู้กับเงินเฟ้อให้เข้ากรอบเป้าหมาย 2% ซึ่งตัวเลขดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจรายเดือนของสหรัฐฯ ที่ออกมายังมีความไม่แน่นอนสูง

หากมองตามความเป็นจริง ‘ไม่โลกสวย’ สถานการณ์พญามังกร ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรกันแน่ แล้วแผลใหญ่ทางเศรษฐกิจมีอะไรที่ต้องติดตามบ้าง การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือโปลิตบูโร จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่อย่างไร และที่เคยสัญญาจะดูแลภาคเอกชนจะทำอะไรออกมา

ขณะที่ประกาศเป้าหมายใหญ่เน้นเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีคุณภาพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีนัยต่อความเชื่อมั่นการลงทุนตลาดหุ้นจีนและการพลิกฟื้นขอภาคธุรกิจ บริษัทในตลาดหุ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนหลังเปิดเมืองและยกเลิกนโยบาย Zero Covid เมื่อต้นปี 2566 นี้

โปลิตบูโรตั้งรับเศรษฐกิจจีนยังมีความท้าทายครึ่งปีหลัง

ในช่วงปีนี้จะเห็นจีนเน้นใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.10% ทุกซีรีส์เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอหลังเปิดเมืองและยกเลิกนโยบาย Zero Covid เมื่อต้นปีนี้ หลังจากที่เมื่อเดือนมีนาคมได้มีการปรับลดดอกเบี้ย RRR ในอัตรา 0.25% ไปก่อนแล้ว แม้ว่าจะถูกทั่วโลกมองว่าไม่แรงเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนก็ตาม ขณะที่ตลาดหุ้นจีนซึม และไม่ตอบสนองเชิงบวกนัก

ทั้งนี้ ในการประชุมของธนาคารกลางจีน (PBoC) เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้ปรับลดดอกเบี้ย Reverse Repo Rate ระยะ 7 วันลงอีก 0.10% จากระดับ 2% สู่ระดับ 1.9% ซึ่งนับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 10 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (SLF) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสภาพคล่องสำหรับสถาบันการเงินอีก 0.10% และยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จาก 2.75%

เนื่องจากเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังเปิดเมืองและยกเลิกนโยบาย Zero Covid ยังคงอ่อนแอ จึงต้องการลดดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดการปล่อยสินเชื่อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างเซอร์ไพร์สให้กับตลาดอย่างมากที่รีบร้อนลดดอกเบี้ย เนื่องจากดอกเบี้ย MLF ที่ธนาคารกลางใช้ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ ปกติจะปรับทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน แต่รอบนี้ รีบลดดอกเบี้ยระยะสั้นไปก่อน และต่อมาลดดอกเบี้ย MLF

Advertisment

นอกจากนี้ดอกเบี้ยสำคัญๆ อย่างอัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปี (ดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงปล่อยกู้ให้เอกชน เหมือนดอกเบี้ย MLR ในไทย) ก็ปรับลดลง 0.10% มาอยู่ที่ 3.55% และอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยสินเชื่อที่ใช้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ลดลงเหลือ 4.2% ซึ่งปกติจะไม่เห็นจีนลดดอกเบี้ยพร้อมๆ กัน เพราะลดสลับกันประเภทอายุ 5 ปี หรือ 1 ปี

สะท้อนว่า จีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อมาในกลางเดือนกรกฎาคม ยังได้จะดำเนินการอัดฉีดเงินทุนใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง จำนวน 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 1.44 ล้านบาท) เข้าสู่ระบบธนาคาร นอกจากนี้ยังได้อัดฉีดเงิน 3.3 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.59 แสนล้านบาท) ผ่านการ reverse repo ระยะ 7 วัน และคงอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมไว้ที่ 1.90%

Advertisment

ในส่วนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังที่โลกแอบลุ้นกันนั้น ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั่งประธานหัวโต๊ะในการประชุมสมาชิกที่มี 24 คนของคณะกรรมการเมือง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ปรากฏว่า หลังการประชุมโปลิตบูโร สื่อทางการจีนรายงานว่า ในที่ประชุมมีการหารือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสำหรับครึ่งปีหลังนี้ และระบุว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ จากหลายปัจจัย ในที่ประชุมโปลิตบูโร เห็นพ้องกันว่า จีนต้องควบคุมดูแลเศรษฐกิจมหภาค ให้เกิดผลอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

ผลการประชุมโปลิตบูโรในรอบนี้ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ นายบรูซ ผาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ ได้กล่าวไว้ล่วงหน้าว่า “การประชุมโปลิตบูโรในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ใช้ยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะไม่มีการประกาศนโยบายกระตุ้นเชิงรุกมากมายอย่างที่ตลาดคาดหวังไว้”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมว่าด้วยการปฏิรูปเชิงลึกของรัฐบาลจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แสดงท่าทีความเป็นมิตรในการเปิดกว้างมากขึ้นในการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงการค้า การลงทุน และนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นความพยายามของจีนที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของการแก้ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ทางการจีนได้ดำเนินการช่วยเหลือตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังป่วย ด้วยการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้สำหรับผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

นี่คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นยังคงอ่อนแอลงไร้ปัจจัยบวกหนุน ท่ามกลางความวิตกกังวลเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะแย่กว่าครึ่งปีแรก

รัฐบาลจีนประคองเศรษฐกิจโต 5% หลังไตรมาส 2 โตสูงจากฐานที่ต่ำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดย GDP ของจีนเติบโตได้ 6.3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าดีที่สุดตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หลังจากที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน รวมถึงมาตรการ Zero Covid โดยเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อจากไตรมาส 1 GDP อยู่ที่ 4.5% อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่สูง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันในภาคบริการกลับมาขยายตัวสูงจากที่คนจีนท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า จนทำให้ตัวเลขกลับไปสูงเท่าก่อนโควิดแล้ว และภาคบริโภคที่เป็นอุปสงค์จากการถูกอั้นไว้ในช่วงโควิด (pent-up demand) ส่วนภาคส่งออกของจีนยังชะลอตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกและการที่มีสต๊อกค้าง จึงทำให้ออร์เดอร์ส่งออกจากคู่ค้าลดลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรกขยายตัว 5.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ GDP อยู่ที่ 3.3% ตั้งเป้าหมาย GDP ปีนี้เติบโต 5% และ IMF คาดการณ์ GDP จีนเติบโต 5.2% และปี 2567 คาดเติบโต 4.5% เท่านั้น

ในรายงานดังกล่าวของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ยังระบุว่า รัฐบาลจีนได้ชี้ถึงการเร่งความพยายามที่จะส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาใหม่ โดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง สร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นภายในประเทศและระหว่างประเทศ และยังกล่าวถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างการเติบโตที่มั่นคง การจ้างงาน และราคา ส่งผลให้ความต้องการของตลาดค่อยๆ ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม มีการมองความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่เป็นเรื่องใหญ่ในเวลานี้ คือ อัตราว่างงานของวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ล่าสุดอยู่ที่ 21.3% แล้ว หลังจากที่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจีนมีอัตราการว่างงานของวัยรุ่นที่ 20.4% ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเข้าปราบปรามในหลากหลายอุตสาหกรรมที่จ้างงานวัยรุ่นจบใหม่ แม้ว่ารัฐบาลพยายามผลักดันให้วัยรุ่นออกไปทำงานในเมืองรองแล้วก็ตาม

รายงานล่าสุด IMF ได้มองเศรษฐกิจจีนว่า การฟื้นตัวของจีนอาจช้าลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และการไหลออกของเม็ดเงินจากจีน ขณะเดียวกัน IMF ยังกังวลถึงปัญหาหนี้สาธารณะอาจแพร่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจกว้างขึ้น

ปัญหาการว่างงานของวัยรุ่นหนุ่มสาวจีนที่ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ทำให้เห็นถึงความอ่อนแอของตลาดแรงงานในจีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัจจัยข้างต้นทำให้ IMF มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเริ่มอ่อนแรง

ในทางกลับกัน IMF มองว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจีนอาจลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน (PBoC) และทำให้อุปสงค์ในประเทศสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และในภาคการส่งออกจีนนั้นถือว่าแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเชิงรุกใดๆ เนื่องจากอาจซ้ำเติมความเสี่ยงด้านหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ส่องหาหุ้นจีนของดีราคาถูกลงทุน พร้อมเติบโตไปกับเมกะเทรนด์

แม้ภาพระยะสั้นในปีนี้จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 5% ซึ่งต่ำกว่าค่าฉลี่ยในอดีตที่ 9% แต่ภาพระยะยาวของจีนที่ได้ประกาศการกำหนดเป้าหมายไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ จีนประกาศยังคงลงทุนอยู่และมีเป้าหมายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และเทคโนโลยี เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญต่ออนาคตของประเทศจีนที่ตอบโจทย์การเติบโตเน้นคุณภาพในระยะยาว

ผมจึงยังเชื่อมั่นศักยภาพการเติบโตของจีนในระยะยาว ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลจีนไม่เร่งรีบเน้นสร้าง GDP ให้เติบโตสูงในระยะสั้น และมีความระมัดระวังในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งลงมือสะสางปัญหาเก่าๆ อย่างต่อเนื่อง ผมจึงยังให้มุมมองตลาดหุ้นจีนน่าสนใจทะยอยลงทุนครับ

เชื่อไหมครับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกยังหลั่งไหลเข้าลงทุนกองทุนหุ้นจีนไม่ขาดสาย แม้ว่าบางปีจีนจะมีข่าวลบรุมกระหน่ำ บางคนที่ขาดทุนก็ดูจังหวะซื้อเพิ่ม บางคนที่ยังไม่ลงทุนก็หาจังหวะเข้าลงทุนครับ และบางคนที่ขาดทุนก็ยังไม่ขายก็มีครับ

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตไม่แรงเท่าอดีต แต่ก็ไม่ได้เติบโตน่าเกลียดเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างตะวันตก หากสะท้อนผ่านมูลค่าของตลาดหุ้นจีนผ่าน P/E Forward ที่อยู่ระดับ 13 เท่า ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 19 เท่า คุณจะเห็นราคาที่ยังถูก แม้ว่าการลงทุนในระยะสั้นอาจจะยังไม่สดใสหรือแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ชัดเจน แต่ผมยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจีนหลังการปรับโครงสร้างใหม่จะกลับมาเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาวได้ครับ

ในช่วงจังหวะเวลานี้ที่มีหุ้นดีๆ ได้ปรับตัวลดลงมาเยอะ ผมอยากชวนคุณมาเฟ้นหาหุ้นจีนพื้นฐานดี ธุรกิจมีอนาคต โดยเฉพาะตอนนี้โลกยกให้จีนเป็นผู้นำผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้นำพลังงานสะอาด เทคโนโลยีจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเติบโตล้อไปกับเมกะเทรนด์ครับ

หากคุณสนใจข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นจีนเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาหุ้นรายตัวที่ Jitta.com ได้จัดอันดับ (Ranking) ไว้ หรือ ศึกษาข้อมูลการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking หุ้นจีน และหุ้นเทคโนโลยีจีน รวมถึงกองทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ https://jittawealth.com/

ในยุคที่โลกกำลังหาสมดุลทางเศรษฐกิจ ในฐานะนักลงทุนเองก็ไม่ควรมองข้ามการสร้างสมดุลให้กับพอร์ตลงทุนเช่นกัน เลือกตลาดที่มีศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงการลงทุนเพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ในช่วงขาลงการทยอยสะสมหุ้นจีนเติมใส่พอร์ตไว้บ้าง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างสมดุลให้กับคุณได้ในระยะยาวนะครับ