จับตาหุ้นกู้ไฮยีลด์ “อสังหาฯ” ปี’66-67 ครบดีลเกือบ 7 หมื่นล้าน 44 บริษัท

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยผลกระทบ “แอชตัน อโศก” บริษัทอสังหาฯชะลอขายหุ้นกู้ จับตาหุ้นกู้ไฮยีลด์ “อสังหาฯ” ช่วงที่เหลือของปี’66-67 ครบดีลเกือบ 7 หมื่นล้านบาท รวมกว่า 44 บริษัท

ชะลอขายหุ้นกู้อสังหาฯ

วันที่ 18 สิงหาคม 2566 นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบกรณีแอชตัน อโศก ค่อนข้างทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แต่อาจจะไม่ได้กังวลขนาดผลกระทบของกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)

โดยฝั่งบริษัทผู้ออกจะมีบางบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอขายหุ้นกู้ไปก่อน โดยกระจายอยู่ในกลุ่มหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated) และผู้ออกหน้าใหม่ และอาจจะมีบางบริษัทขนาดเล็กในเซ็กเตอร์อื่นชะลอขายหุ้นกู้ไปด้วย เนื่องจากช่วงผลกระทบก่อนหน้านี้รุนแรงมาก ซึ่งยังบอกไม่ชัดว่าเป็นเพราะผลพวงกรณีแอชตัน อโศก เนื่องจากตลาดยังมีกลิ่นอายความกังวลของ STARK อยู่ด้วย ซึ่งตอนนี้ถ้าบริษัทไหนยังมีช่องทางระดมทุนอื่นได้ ก็จะเลื่อนหรือชะลอการขายหุ้นกู้ไปก่อน

จับตา 29 หุ้นกู้อสังหาฯเสี่ยงสูง

สำหรับในปี 2566 จะมีหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ครบกำหนดอายุรวมทั้งหมด 122,709 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2566 มีหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ครบกำหนดอายุไปแล้วทั้งสิ้น 88,182 ล้านบาท โดยช่วงที่เหลือของปีนี้จะเหลือครบกำหนดอีกราว 34,527 ล้านบาท

โดยต้องติดตามหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์กลุ่มเสี่ยงสูง (high yield) ที่จะมีวงเงินครบกำหนดอายุปีนี้ประมาณ 10,498 ล้านบาท รวมประมาณ 15 บริษัท แต่ทั้งนี้การระดมทุนใหม่คงจะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและความคุ้นเคยของนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งบางบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง แต่ต้องการสภาพคล่อง อาจจะเริ่มเห็นการเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า สำหรับหุ้นกู้เสี่ยงสูงที่จะครบกำหนดอายุช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ 1.มั่นคงเคหะการ 1,565 ล้านบาท 2.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น 1,379 ล้านบาท 3.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ 950 ล้านบาท 4.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ 850 ล้านบาท และ 5.ไรมอน แลนด์ 752 ล้านบาท

โดยหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดอายุในปี 2567 รวมทั้งหมด 158,404 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) จำนวน 99,573 ล้านบาท และหุ้นกู้เสี่ยงสูงอีก 58,831 ล้านบาท จำนวน 29 บริษัท อาทิ 1.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น 21,370 ล้านบาท 2.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ 7,057 ล้านบาท 3.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 6,668 ล้านบาท 4.ริสแลนด์ 2,574 ล้านบาท และ 5.ไซมิส แอสเสท 2,542 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้หากรวมมูลค่าของหุ้นกู้เสี่ยงสูงที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปีนี้ 10,498 ล้านบาท จำนวน 15 บริษัท และปีหน้าอีก 58,831 ล้านบาท จำนวน 29 บริษัท จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 69,329 ล้านบาท หรือกว่า 44 บริษัท

เสียงสะท้อนนักลงทุน 2 มุม

นางสาวศิรินารถกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี จากที่คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะชะลอตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น และตอนนี้ยังไม่มีบริษัทไหนผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติม จึงคาดว่าน่าจะทำให้บรรยากาศของนักลงทุนผ่อนคลายขึ้น สนับสนุนสถานการณ์ของตลาดหุ้นกู้ปรับตัวดีขึ้นได้

โดยเสียงสะท้อนผ่าน “ชมรมคนรักหุ้นกู้” จะมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่เริ่มคลายกังวล เพราะพวกเขามองว่าเงินต้องมีที่ไป แต่ต้องเลือกลงทุนดี ๆ เพราะ high risk high return ซึ่งจะเห็นว่าความเข้าใจของนักลงทุนจะเข้าใจต่อประเด็นการผิดนัดชำระหนี้และกระบวนการเลือกที่มีพัฒนาการ/เรียนรู้มากขึ้น

แต่ก็จะมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่กลัว อาจจะได้รับผลกระทบตรง ๆ หรือถูกผิดนัด (default) นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะชะลอไปเลย แต่นักลงทุนที่แค่เห็นเหตุการณ์ ยังไม่ได้รับผลกระทบก็อาจจะแค่มีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็ยังคงลงทุนกันอยู่