เปิด 5 เรื่อง เตรียมพร้อมรับมือ “หุ้นกู้” ที่ส่อแววผิดนัดชำระ

หุ้นกู้

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นกู้แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านราคา

วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เมื่อลงทุนหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่มีความสม่ำเสมอและแน่นอน โดยอยู่ในรูปของดอกเบี้ย ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ โดยหุ้นกู้ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มักจะเสนออัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงให้กับนักลงทุน ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ มี 2 ประเภท คือ การผิดนัดทางเทคนิค และการผิดนัดจริง

การผิดนัดทางเทคนิคจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ผิดเงื่อนไขบางประเภท ที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้น โดยรวม ๆ เรียกว่า ผิดเงื่อนไข เพราะการเสนอขายหุ้นกู้แต่ละครั้ง จะมีข้อกำหนดเงื่อนไข ข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งต้องเขียนไว้อย่างชัดเจน หมายความว่า ผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้จะต้องทำตามเงื่อนไข พูดง่าย ๆ คือ สัญญาต้องเป็นสัญญา

ดังนั้น เมื่อหุ้นกู้ผิดเงื่อนไขไปจากที่เขียนเอาไว้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ ก็ต้องทำการแจ้งผู้ถือหุ้นกู้ จากนั้นก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการประชุมเพื่อให้ผู้ออกหุ้นกู้มาอธิบายถึงสาเหตุของการผิดเงื่อนไข และขอมติผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะให้ปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ เช่น ก่อนออกหุ้นกู้มีเงื่อนไขว่าจะดำรงสถานะทางการเงินด้วยการมีหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่เกิน 3 เท่า แต่ถัดจากนั้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง D/E Ratio เพิ่มเป็น 5 เท่า แสดงว่าผู้ออกหุ้นกู้ไม่ทำตามเงื่อนไข

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็จะขอมติที่ประชุมจากผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะให้ผู้ออกหุ้นกู้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ D/E Ratio กลับสู่ระดับเดิม (ไม่เกิน 3 เท่า) หรือจะปรับเงื่อนไขใหม่ เช่น สามารถให้ D/E Ratio ไม่เกิน 5 เท่า และเมื่อผู้ถือหุ้นกู้โหวตว่าต้องการแบบไหน ผู้ออกหุ้นกู้ก็ต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าว

นอกจากนี้ หากผู้ถือหุ้นกู้มีมติว่าไม่ต้องการให้ผู้ออกหุ้นกู้ปรับปรุงเงื่อนไข แต่มีมติให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้หรือไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน (Acceleration) โดยไม่ต้องรอให้หุ้นกู้ถึงวันครบกำหนด หรือเรียกว่า ถูกเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน (Call Default) ซึ่งกรณีนี้ เรียกว่า หุ้นกู้เกิดการผิดนัดทางเทคนิค

สำหรับการผิดนัดชำระที่เกิดขึ้นจริง จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินได้ และตั้งใจที่จะไม่ชำระตามกำหนดเวลา โดยในเงื่อนไขจะระบุวันชำระคืนเงินต้น จำนวนเงินต้นที่ต้องชำระคืน และวันที่ชำระดอกเบี้ยพร้อมระบุอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด

แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ ชำระหนี้ตามเงื่อนไข ดำเนินการฟ้องร้องบริษัท หรือจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่ได้รู้ถึงเหตุผิดนัด เพื่อขอมติในการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้หรือฟ้องร้องหากเกิดความเสียหายขึ้น

ดังนั้น เมื่อเห็นสัญญาณว่าผู้ออกหุ้นกู้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนี้

1. หาใบหุ้นกู้ให้เจอ

กฎหมายสำคัญประการหนึ่งสำหรับการลงทุนหุ้นกู้ในประเทศไทย คือ ใบหุ้นกู้ โดยส่วนใหญ่เมื่อถึงวันจองและต้องชำระค่าหุ้นกู้ หลังจากนั้นประมาณ 7-14 วัน ก็จะได้รับใบหุ้นกู้ในกรณีของใบหุ้น (Scrip) หรือจะได้เอกสารยืนยันในกรณีไร้ใบหุ้นกู้ (Scripless) ดังนั้น เมื่อได้ใบหุ้นกู้มาแล้วก็ควรเก็บไว้เป็นอย่างดี อย่าให้หาย และเพื่อป้องกันการสูญหายควรขอในลักษณะไร้ใบหุ้นกู้ เพราะวันที่ต้องเรียกร้องหนี้เราต้องใช้ใบหุ้นกู้เป็นตัวแสดงสิทธิในการเรียกร้อง

2. ต้องรู้ว่าผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้คือใคร

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ออกตราสารหนี้เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้ถือหุ้นกู้ พูดง่าย ๆ คือ จะคอยดูแลสอดส่องว่าผู้ออกหุ้นกู้ “ทำตามเงื่อนไข” ครบถ้วนหรือไม่ และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีบทบาทสำคัญมากในการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุปและนำมติที่ประชุมไปแจ้งต่อผู้ออกหุ้นกู้ หากผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตาม

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสิทธิที่พึงได้ ดังนั้น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จึงถือเป็นบอดี้การ์ด คอยดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องรอข้อมูลข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่จะส่งมาทางจดหมายลงทะเบียน เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขั้นตอนการดำเนินการ

โดยผู้ถือหุ้นกู้ สามารถดูข้อมูลของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ในส่วนลักษณะตราสาร หรือหน้าปกแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (Filing) ทั้งนี้ ผู้ลงทุนค้นหา Factsheet และ Filing ของหุ้นกู้ ได้จากทางแอปพลิเคชั่น SEC Bond Check หรือเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing)

3. ต้องรู้ว่าตัวเองถือหุ้นกู้ประเภทใด และรุ่นไหน

เมื่อรู้ว่าหุ้นกู้ที่ถือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ก็ต้องดูว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่เป็นหุ้นกู้ประเภทใด เพราะหุ้นกู้แต่ละประเภทจะมีลำดับในการชำระหนี้ต่างกัน กล่าวคือ หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือมีคำสั่งให้ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น

จะได้รับคืนตามสัดส่วนและตามลำดับในการเรียกร้องสิทธิเท่านั้น โดยผู้ลงทุนในหุ้นกู้อยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้” ของบริษัท มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญที่มีฐานะเป็น “เจ้าของ” กิจการซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย

โดยหุ้นกู้ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนเรียงลำดับก่อน-หลัง ได้แก่ หุ้นกู้มีประกัน หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตัวเองถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ของหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ

4. เตรียมการ เมื่อมีการบังคับชำระหนี้

เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติ หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นคนที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย และจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้โดยชื่อของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจะปรากฏในทะเบียนรายชื่อล่าสุด และผู้ถือหุ้นกู้ควรจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อม หากมีความจำเป็นจะต้องมีการยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้

5. ติดตามความคืบหน้าการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ และข่าวสาร

ผู้ถือหุ้นกู้สามารถติดตามความคืบหน้าของผลการบังคับชำระหนี้จาก “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน และควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีสติ เพราะในโลกเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร มีทั้งข้อมูลที่จริงและไม่จริง จึงต้องคัดกรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันควรศึกษากฎหมายเพิ่มเติม เช่น นิติบุคคลล้มละลาย เพราะหากถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายก็จะได้เข้าใจกระบวนการ เพราะอย่าลืมว่า “เงินของเรา ควรพึ่งพาตัวเองด้วย”

เมื่อหุ้นกู้ผิดนัดชำระ ไม่ได้หมายความว่าผู้ถือหุ้นกู้จะสูญเงินลงทุนไปทั้งหมด ยังพอมีช่องในการได้รับเงินคืน ดังนั้น เพื่อทำให้การติดตามเงินเป็นไปอย่างราบรื่น ก็ต้องเตรียมตัวเป็นขั้นเป็นตอนและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

และขอเน้นว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นกู้แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านราคาอีกด้วย ผู้ลงทุนหุ้นกู้จึงควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบด้าน และจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ อย่านำเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต ไปฝากไว้กับหุ้นกู้หรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง

เปิด 5 เรื่อง เตรียมพร้อมรับมือ “หุ้นกู้”

บทความโดย “กรกฏ กมลเนตรพิสุทธิ์”
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริหารช่องทางผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย