ค่าเงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาผลโหวตนายกรัฐมนตรีไทย

ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาผลโหวตนายกรัฐมนตรีไทย หลังที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือก “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ขณะที่นักลงทุนยังกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของจีน

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 34.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/8) ที่ระดับ 35.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ ภายใต้หัวข้อ “Structural Shifts in the Global Economy” ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักลงทุนว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคธรกิจและผู้บริโภค

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และผลการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 (ล่าสุดที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น) ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.อาจจะเข้าแทรกแซงเพื่อกำจัดความผันผวนมากเกินไปของค่าเงินบาท

โดยค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนมาตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง สำหรับเศรษฐกิจในไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวแผ่วลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะมีแนวโน้มจำกัดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวจากภาวะเศรษฐกิจในบางประเทศที่ชะลอตัว แต่จะยังส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลายตัว เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือนกรกฎาคม จากความกังวลต่อผลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการส่งออกหดตัว ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.45% แต่คงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20%

นักลงทุนมองว่าการตัดสินใจครั้งล่าสุดของธนาคารกลางจีนยังไม่มากพอที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นได้ อีกทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอ่อนแอ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.93-35.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/8) ที่ระดับ 1.0895/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของเยอรมนี ในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม ได้แก่ ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยสถาบัน IFO ซึ่งคาดว่าจะออกมาที่ระดับ 86.8 จุด และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 0.0% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0897-1.0927 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0916/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 146.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/8) ที่ระดับ 145.81/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานธนาคารกลางญี่ปุ่น (Core CPI) อยู่ที่ระดับ 3.3% ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 3.0% ในเดือน มิ.ย.และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.69-146.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือน ก.ค. (22/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือน ส.ค.ของประเทศอังกฤษ, เยอรมนี, สหภาพยุโรป, และสหรัฐ (23/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/8), การประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ (24/8-26/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือน ส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (25/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/10.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.50/9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ