ธปท.เผย ธนาคารกลางเวียดนามเข้าร่วมเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค

ธปท.เผย ธนาคารกลางเวียดนามเข้าร่วมเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค

ธปท.เผย ธนาคารกลางเวียดนามเข้าร่วมเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค หรือ RPC นับเป็นสมาชิกธนาคารแห่งที่ 6 ภายใต้ความร่วมมือ คาดจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้า-การโอนเงินภายในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในระยะต่อไป

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam : SBV) ได้เข้าร่วมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค (Regional Payment Connectivity : RPC) อย่างเป็นทางการ

ซึ่งเป็นการต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้าน RPC (Memorandum of Understanding on Cooperation in Regional Payment Connectivity : MOU RPC) ที่ริเริ่มโดยธนาคารกลางของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองบาหลี

ทั้งนี้ SBV ได้ลงนามในเอกสารแนบ MOU RPC ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 10 (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีประเทศสมาชิกปัจจุบันของ MOU RPC ได้แก่ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน การขยายสมาชิกภายใต้ MOU RPC เป็นไปตามแนวทางที่ AFMGM ครั้งที่ 9 มอบหมาย และยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเป็นประธานอาเซียน ปี 2566 ของอินโดนีเซีย

สำหรับ RPC ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศให้รวดเร็ว ถูกลง โปร่งใส และเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมการชำระเงินรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมระบบ QR Code และการเชื่อมระบบการชำระเงินแบบทันที (fast payment) โดย RPC มีเป้าหมายของ RPC ในการทำให้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไร้รอยต่อและสะดวก ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจทำธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น

ธปท.เผย ธนาคารกลางเวียดนามเข้าร่วมเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค

การเข้าร่วมของ SBV ในครั้งนี้ ทำให้ธนาคารกลางในอาเซียนที่เป็นสมาชิกภายใต้ MOU RPC เพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 6 ธนาคาร ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ โดยการเพิ่มจำนวนสมาชิกใน MOU RPC จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ทั้งนี้ ระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกัน จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการโอนเงินภายในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ในระยะต่อไป RPC สามารถขยายไปยังประเทศใกล้เคียงและประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น

ด้าน Pham Thanh Ha รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้แทน SBV ในพิธีการลงนาม กล่าวว่า SBV ยินดีที่เป็นสมาชิกใหม่ใน MOU ว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยการชำระเงินภูมิภาค และหวังว่าจะมีการประสานงานใกล้ชิดระหว่างทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมการชำระเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง โปร่งใส และเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น

MOU RPC แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และพัฒนาความเชื่อมโยงการชำระเงินให้อาเซียนเป็นผู้นำระดับโลกในด้านดังกล่าว