ฉัตรชัย ศิริไล นำทัพ ธ.ก.ส. แก้ปมหนี้เกษตรกร

ฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. แก้หนี้เกษตร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังจากเข้ามานั่งตำแหน่งผู้จัดการธนาคาร โดยสร้างประวัติศาสตร์เป็น “บุคคลภายนอกคนแรก” ที่ฝ่าด่านการคัดเลือกเข้ามานั่งเก้าอี้นี้ได้ ทำให้ต้องอาศัยระยะเวลาปรับจูนการทำงานในองค์กรอยู่ไม่น้อย เพราะรับโจทย์สำคัญเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ก่อนหน้านี้พุ่งสูงเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ล่าสุด “ฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ฤกษ์เปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงทิศทางการทำงานอย่างเป็นทางการ

โจทย์เร่งด่วนแก้ NPL พุ่ง

“ธ.ก.ส.เป็นด่านสุดท้าย สำหรับเกษตรกรแล้ว ถ้าหลุดจากนี้ไปก็หนี้นอกระบบ”

“ภารกิจของ ธ.ก.ส.ไม่เหมือนใคร แล้วก็ไม่มีใครเหมือนด้วย ผมถามว่าแบงก์ทั้งระบบมีใครอยากลงไปพัฒนาลูกค้าไหม ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง ทำไมเราต้องมีพนักงานกว่า 2.3 หมื่นคน สาขากว่า 1,200 แห่ง”

“เราเพิ่งลืมตาจากไข้ เอ็นพีแอลขึ้นไปเป็นเลขสองหลัก จากความเปราะบางที่เจอโควิดมา มาตอนนี้จะให้หุ่นดีเลยคงไม่ได้ ต้องสร้างความแข็งแรงจากข้างในก่อน บริหารจัดการเอ็นพีแอลให้ได้ สามารถคาดการณ์ได้ มีระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยสินเชื่อ” ทั้งหมดนี้เป็นคำกล่าวของผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่ที่เข้ามาทำงานได้ 5 เดือน

“ฉัตรชัย” กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องสำคัญที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือ การแก้ไขเอ็นพีแอล ซึ่งตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนให้เหลือ 5.5% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท ในสิ้นปีบัญชี 2566 นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.46% หรือ 1.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปีบัญชี 2565 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่กว่า 7% หรือ 1.25 แสนล้านบาท

โดยเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส.จะค่อนข้างแตกต่างจากแบงก์อื่น ๆ เพราะขึ้นกับคาบการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และที่ผ่านมาก็เพิ่งพ้นกับช่วงการพักหนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกษตรกรลูกค้าก็เพิ่งฟื้น

“ลักษณะเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส.จะมาเป็น wave ตอนนี้สิ่งที่เราบริหารจัดการ จะดู 2 มิติ โดยมิติแรกคือ หนี้ที่ครบดีล จะป้องกันไม่ให้ไหลทะลุไปเป็นเอ็นพีแอล ขณะเดียวกัน หนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่ก็ต้องแก้ไข ซึ่งต้องบอกว่าคาบที่อันตรายที่ผ่านมา คือตอนสิ้นเดือน มี.ค. 2566

หรือสิ้นปีบัญชีที่แล้ว มีหนี้ครบดีลกว่า 4.7 แสนล้านบาท เราได้บริหารจัดการด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จนเหลือเอ็นพีแอลไหลเข้าประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน เดือน ส.ค.นี้ก็ตั้งเป้าแก้เอ็นพีแอลให้ได้อีก 5,000 ล้านบาท”

ขณะที่จากนี้ไปอีก 6 สัปดาห์ จะมีหนี้ครบดีลชำระอีก 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารได้บริหารจัดการจนเหลือหลักพันล้านบาทแล้ว ดังนั้น สถานการณ์เอ็นพีแอลไหลเข้าจะไม่ถึงหลักพันล้านบาทในช่วงดังกล่าว โดย ธ.ก.ส.ก็จะเร่งแก้ส่วนที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาชำระปกติ เพื่อรองรับสถานการณ์หนี้คาบต่อไป หรือคาดเดือน มิ.ย. 2566 ที่มีครบดีลอีกกว่า 2.8 แสนล้านบาท

ซึ่งส่วนนี้จะไปปรากฏในงบการเงินเดือน ต.ค. 2566 จากนั้นคาบเดือน ธ.ค. 2566 จะมีครบดีลอีกกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะไปปรากฏในงบการเงินเดือน เม.ย. 2567

“ธุรกิจของ ธ.ก.ส.จะไม่เหมือนของแบงก์อื่น เนื่องจากคาบของการเก็บเกี่ยวจะเป็นฤดูกาล สิ่งที่เราจะทำคือ ทำให้เวฟการชำระหนี้กดต่ำลง ทำให้คลื่นมันแบนที่สุด เพื่อไม่ให้งบการเงินมันสะวิง เพื่อให้เราคุมอยู่ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพราะต้องทำความเข้าใจว่า บางทีลูกค้าก็มีเงินเข้ามา สามารถชำระได้ก่อนจะถึงคาบ

แต่เนื่องจากมีการชำระหนี้ ทำให้ลูกค้าอาจจะไม่ได้ติดต่อแบงก์นาน จึงทำให้ลืมไปบ้าง เราก็ต้องทุ่มทรัพยากรลงไปเยี่ยม ไปดูแลลูกค้า และเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระ”

เพิ่มเป้าปล่อยกู้ 5 หมื่นล้าน

“ฉัตรชัย” กล่าวว่า นอกจากการแก้หนี้แล้ว ปีนี้ธนาคารยังได้ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเพิ่ม จากเดิมตั้งไว้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 8.5 หมื่นล้านบาท ขยายออกไปในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรหัวขบวน หรือผู้ประกอบการหัวขบวนที่รับซื้อหรือรวบรวมสินค้าเกษตรจากเกษตรกร

ทั้งนี้ ได้มีการอัพเดตระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการการอำนวยสินเชื่อทั้งระบบ โดยล่าสุดเพิ่งลงระบบ end to end process ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการหนี้ไปแล้วในเฟสแรก และจะลงจนเต็มระบบได้ภายในเดือน ก.ย. 2566 นี้ ขณะที่การอำนวยสินเชื่อก็มีการลงระบบที่พัฒนาขึ้นมาเองใช้ไปพลางก่อน ระหว่างรอขึ้นระบบใหม่ในเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งจะเป็นระบบอำนวยสินเชื่อทั้งรายย่อย
และรายใหญ่

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องการจัดการข้อมูล เอกสารลูกค้าให้ครบถ้วน และการทำตามาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ TFRS9 ที่จะบังคับใช้ด้วย

นับหนึ่งดัน “คาร์บอนเครดิต”

“ฉัตรชัย” กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้เร่งดำเนินการในเรื่องคาร์บอนเครดิต ได้ร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ

ตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (validation 
and verification body : VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดยนำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 453 ตันคาร์บอน โดยขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,359,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 951,300 บาท

ตั้งรับนโยบาย “พักหนี้-แจกเงิน”

ส่วนการเตรียมการรองรับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีการ “พักหนี้” นั้น “ฉัตรชัย” กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมข้อมูลลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์ ไม่ว่าจะในแง่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอายุ มูลหนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมแต่ละประเภทของกำลังการผลิต อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดมาตรการคงต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน ว่าการพักหนี้จะพักเฉพาะเงินต้น หรือพักดอกเบี้ยด้วย

“ในแง่วิธีการยังไม่ชัด ดังนั้น สิ่งที่เราเตรียมไว้ก็คือ ฐานข้อมูล โดยแยกทุกมิติว่า หากดำเนินการแล้วจะกระทบ ธ.ก.ส.อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสด ดอกเบี้ยรับ ซึ่งจะผันไปหาเรื่องมาตรฐานบัญชี รวมถึงเอ็นพีแอลด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีลูกหนี้บางกลุ่มที่เขามีศักยภาพชำระได้ เราอาจจะมี incentive บางส่วนเข้าไปด้วย”

ขณะที่นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ธ.ก.ส.จะเป็นช่องทางหนึ่งหรือไม่นั้น “ผู้จัดการ ธ.ก.ส.” กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด แต่หากรัฐบาลต้องการให้ ธ.ก.ส.ทำ ก็พร้อม อย่างไรก็ดี หากดูจากเงื่อนไขรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร อาจจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ไม่ได้อยู่ในเมือง