เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน จับตาประชุมเฟด 19-20 ก.ย.

ค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนตามสัญญาณเงินทุนต่างชาติ และการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์มีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด SET Index เคลื่อนไหวผันผวน ขณะที่นักลงทุนรอติดตามผลประชุมนโยบายการเงินของเฟด 19-20 ก.ย.นี้

วันที่ 17 กันยายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ตามค่าเงินเยนที่มีแรงหนุนจากคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระบุว่า BOJ อาจสามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม แม้ว่าทางการจีนจะพยายามส่งสัญญาณว่า ไม่ต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่าเร็วผ่านการทยอยกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์มีแรงหนุนบางส่วนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย.นี้ แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบถัด ๆ ไปในปีนี้

กราฟเงินบาท-17 กันยา

ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,572 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,919 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 2,079 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,840 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมและ Dot Plot ของเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือน ก.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ก.ย.ของสหรัฐและยูโรโซน

กราฟหุ้นไทย-17 กันยายน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ และความหวังว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่แรงหนุนหุ้นไทยก็ยังคงจำกัด ซึ่งทำให้ดัชนีย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ในระหว่างที่รอปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาหนุน

ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,542.03 จุด ลดลง 0.33% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,912.05 ล้านบาท ลดลง 0.76% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.12% มาปิดที่ระดับ 475.30 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (19-20 ก.ย.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค. ดัชนี PMI เดือน ก.ย. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. และดัชนี PMI เดือน ก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือน ก.ย.ของจีน