ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง สู่ระดับ 67.7 ในเดือน ก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์  แต่ยังเชื่อมั่นแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต

วันที่ 18 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 35.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/9) ที่ระดับ 35.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลหลัก หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง โดยเมื่อวันศุกร์ (15/9) ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 67.7 ในเดือน ก.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 69.1 จากระดับ 69.5 ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ ผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

ประชุม 19-20 ก.ย.นี้ คาดเฟดคงดอกเบี้ย

นอกจากนั้น ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ที่ระดับ 5.25-5.50% โดย FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนักเพียง 3.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 จากระดับ 3.5% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว

สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 3.0% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการเปิดเผยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (dot plot) รวมทั้งตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ การว่างงาน และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

อีกทั้งรอดูการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสบดี (21/9) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะประชุมนโยบายการเงินในวันศุกร์ (22/9)

และอีกปัจจัยที่ตลาดให้ความสนใจในช่วงนี้คือทิศทางราคาน้ำมัน ท่ามกลางความกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และอาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 35.83 บาท/ดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และปรับตัวอ่อนค่าตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดยเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม อีกทั้ง ค่าเงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ

แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นระหว่างวัน จากการที่นักลงทุนปรับทิศทางการลงทุนก่อนการประชุมเฟด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.65-35.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 1.0665/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/9) ที่ระดับ 1.0655/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงได้รับแรงหนุนจากการแสดงความเห็นของผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ที่ว่า วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีสิ้นสุดลงแล้ว

โดยผู้กำหนดนโยบายบางคนระบุว่า อีซีบีจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งถ้าหากมีความจำเป็น ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0654-1.0678 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0667/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/0) ที่ระดับ 147.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/9) ที่ระดับ 147.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ค่าเงินเยนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ 147.96 เยน เมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยวันนี้ค่าเงินเยนปรับตัวในกรอบแคบเนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุดของญี่ปุ่น และนักลงทุนรอดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้ รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันศุกร์ (22/9)

หลังจากนายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ในวันที่ 9 ก.ย.ว่า บีโอเจอาจจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เมื่อมองเห็นการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.54-147.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.63/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือน ส.ค. (19/9), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ (20/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/9), ดัชนีการผลิตเดือน ก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ส.ค. (21/9) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (22/9)

สำหรับอัตรป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.20/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.40/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ