ธปท.เปิดรับฟังเกณฑ์คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า เคาะดอกเบี้ยบุคคล 28% นาโนฯ 36%

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย หรือ Risk-based pricing เข้าทดสอบใน Sandbox นำร่องสินเชื่อส่วนบุคคล-นาโนไฟแนนซ์ เคาะให้คิดดอกเบี้ย 2 ทางเลือก “ตกลงร่วมกัน” หรือ ธปท.กำหนด สินเชื่อบุคคล 28% และนาโนไฟแนนซ์ 36% ต่อปี ระบุปิดรับฟัง 17 ต.ค.นี้

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย (Risk-based pricing) และการทดสอบใน Sandbox ผ่านหน้าเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย และระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน-17 ตุลาคม 2566

สำหรับ วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล เพื่อให้การนำกลไก RBP มาใช้สำหรับธุรกรรมสินเชื่อรายย่อยมีการประเมินประสิทธิผลและความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ธปท. จึงเปิดให้มีการทดสอบกลไก RBP ใน Sandbox โดยมีหลักการและสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมทดสอบต้องมีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด มีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และมีการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

2.ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสินเชื่อบนพื้นฐานข้อมูลที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้กู้ภายใต้ระบบการประเมินความเสี่ยง (แบบจำลองความเสี่ยงด้านเครดิต) ที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ

3.ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาวินัยทางการเงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจมีกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม เช่น การเปิดเผยข้อมูลปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาระดับความเสี่ยงที่มีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย แนวทางการปรับพฤติกรรมทางการเงิน เพื่อให้ได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ กำหนดขอบเขต วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการทดสอบกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย ภายใต้โครงการ RBP Sandbox ดังนี้

– ขอบเขตการทดสอบ : ในระยะแรก ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถทดสอบการให้สินเชื่อกับประชาชนด้วยกลไก RBP ใน 2 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Unsecured p-loan) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano finance)

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทดสอบยังคงต้องถือปฏิบัติตามประกาศ ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและ/หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องสำคัญ เช่น คุณสมบัติของผู้ใช้บริการสินเชื่อ การกำหนดวงเงินสินเชื่อ การดูแลผู้บริโภค การรายงานข้อมูล เป็นต้น รวมถึงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่าง รับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending)

โดยผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันได้สูงกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อย่างไรก็ดี หากมีผู้กู้กลุ่มที่เคยเข้าถึงสินเชื่อภายใต้เพดานปัจจุบันและระดับความเสี่ยงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมาขอสินเชื่อใหม่ในช่วงเวลาการทดสอบในโครงการ RBP Sandbox ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใด ๆ ภายใต้เพดานปัจจุบันเช่นเดิม

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมของโครงการ RBP Sandbox ธปท. จะพิจารณากำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยจาก 2 ทางเลือก ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยตามที่ผู้เข้าร่วมทดสอบแต่ละรายและ ธปท. ตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของแผนธุรกิจและความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ทางเลือกที่ 2 กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 28% ต่อปี และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ 36% ต่อปี (ตามประกาศกระทรวงการคลังปัจจุบัน)

– ก่อนเข้าทดสอบ : ผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมทดสอบต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก่อนยื่นคำขอเข้าร่วมทดสอบ เช่น ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ Responsible lending โดยมีระยะเวลาการทดสอบครั้งละไม่เกิน 2 ปี

– ในระหว่างการทดสอบ : ผู้เข้าร่วมทดสอบต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มเติม รวมทั้งประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นสามารถเสนอสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นขึ้น

– การออกจากการทดสอบ : ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถออกจากการทดสอบได้ใน 2 กรณี คือ (1) ผลการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถใช้กลไก RBP ให้บริการวงกว้างได้อย่างต่อเนื่องด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในโครงการ RBP Sandbox หรือ (2) ผลการทดสอบไม่เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องยุติการทดสอบและกลับไปถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับช่วงก่อนเข้าโครงการ