เปิดประวัติ 3 แม่ทัพหญิง คุมหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง 

สามแม่ทัพหญิง คลัง

เปิดประวัติ 3 แม่ทัพหญิงคุมหน่วยงานรัฐ ภายใต้กระทรวงคลัง “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีสรรพากรหญิงคนแรกของประเทศไทย “แพตริเซีย มงคลวนิช” อธิบดีกรมบัญชีกลาง และ “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ คุมตลาดทุนไทยแทน “รื่นวดี สุวรรณมงคล” 

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังลอตใหญ่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง “แม่ทัพ” คนใหม่ของหน่วยงานภาครัฐภายใต้กระทรวงการคลังครั้งล่าสุดนี้ ทำให้มีผู้บริหารหญิงถึง 3 คนที่ได้กุมบังเหียนหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศ  

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนทำความรู้จักแม่ทัพหญิงทั้ง 3 คน 

กุลยา อธิบดีกรมสรรพากรหญิงคนแรก

เริ่มที่ “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ และเป็นอธิบดีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นลูกหม้อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เช่นเดียวกับ “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง และ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ตัวเต็ง” แบบไม่มี “พลิกโผ” สำหรับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เพราะเมื่อ “ลวรณ แสงสนิท” ขยับขึ้นไปนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลัง ชื่อของ “กุลยา ตันติเตมิท” ก็โดดเด่นขึ้นมารับไม้ต่อทันที เพราะทั้งดีกรี ทั้งประวัติการทำงาน ทั้งสายบังคับบัญชา เรียกได้ว่า “ครบถ้วน”

ประวัติด้านการศึกษา “กุลยา” จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโทถึง 2 ฉบับ คือ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ (MS), Brandeis University, USA และปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ (MA), Boston University, USA จากนั้นก็จบปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ (PhD) สาขา International Economics and Finance, Brandeis University, USA

กุลยา ตันติเตมิท
กุลยา ตันติเตมิท

กุลยาเติบโตมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ช่วงปี 2554-2556 ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จากนั้นปี 2556-2559 ขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และปี 2559 ขึ้นที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง ก่อนจะลัดฟ้าโกอินเตอร์ไปรับตำแหน่ง กรรมการบริหาร กลุ่มธนาคารโลก ช่วงปี 2561-2563

จากนั้นกลับมารับราชการอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ช่วงปี 2563 และต่อมาในปี 2564 ก็ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่ปี 2564-2566 

กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็น “อธิบดีกรมสรรพากรหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์” จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในที่สุด

ปัจจุบันกกุลยายังดำรงตำแหน่งอื่น โดยเป็นกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต ประธานกรรมการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และกรรมการและกรรมการกำกับความเสี่ยง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) 

นอกจากนี้ “กุลยา” ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรรมการ กรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง และกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม บมจ.ธนาคารกรุงไทย กรรมการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย กรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กรรมการ บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด และกรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

“แพตริเซีย” อธิบดีกรมบัญชีกลาง 

ถัดมาคือ “แพตริเซีย มงคลวนิช” อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เรียกได้ว่าเป็นหญิงแกร่ง หญิงเก่ง อีกคนหนึ่ง ที่ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้ 

นอกจากจะรับผิดชอบเรื่องเงินเดือนของข้าราชการทั้งระบบ การเบิกจ่ายเรื่องค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ แล้ว ยังต้องมีหน้าที่ควบคุม ดูแล และตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของหน่วยภาครัฐ การก่อหนี้ผูกพัน การนำเงินส่งคลัง และการถอนคืนเงินรายได้ของส่วนราชการ เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ด้วย 

ประวัติการศึกษา แพตริเซียจบจากรัฐศาสตรบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท M.A.(Development Policy and Public Administration), University of Wisconsin-Madison, U.S.A. ปริญญาโท LL.M.(Tax), London School of Economics and Political Science, University of London, U.K.

ประวัติการทำงาน ปี 2557-2560 เป็นผู้อำนวยการสำนักวิชาการแผนภาษี ถัดมาปี 2560-2561 เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) / รองอธิบดีกรมสรรพากร และปี 2561-2562 ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และปี 2562-2566 ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

แพตริเซียมีความรู้ความชำนาญทางด้านการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการพัฒนาเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และกำกับการวางแผนการบริหารหนี้สาธารณะ การก่อหนี้ การค้ำประกันและการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ผ่านการใช้เครื่องมือและนวัตกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับสภาวะตลาดและพลวัตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการติดตามและประเมินผล เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ

แพตริเซีย มงคลวนิช
แพตริเซีย มงคลวนิช

อีกทั้ง การวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางแผนบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกัน ติดตาม และแก้ไขปัญหาในการดำเนินโครงการ/แผนงานให้ประสบผลสำเร็จ และเชี่ยวชาญด้านภาษีอากร ภาษีระหว่างประเทศ การเงิน การลงทุน และการธนาคาร

แพตริเซียยังดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในปัจจุบัน ทั้งกรรมการ บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด กรรมการ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กรรมการ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) 

นอกจากนั้น เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 26 สถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 25 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

พรอนงค์ เลขาธิการ ก.ล.ต.คุมตลาดทุนไทย

ปิดท้ายกันด้วย “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 8 ต่อจาก “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ที่ครบวาระดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 โดยทาง “พรอนงค์” ได้รับการทาบทามให้ลงสมัครชิงเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต. ตั้งแต่สมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีการร้องเรียนว่าคุณสมบัติไม่ผ่านในเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การบริหารองค์กร ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแสดงความมั่นใจว่าคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การสรรหาของ ก.ล.ต.

อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” หมดวาระ และมีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต. ล่าช้าออกมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่ง ครม.ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566

“พรอนงค์” จบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ, B.A. (การจัดการเชิงปริมาณ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2532, ปริญญาโทสาขาสารสนเทศการจัดการการบริหารธุรกิจ หรือ MBA (MIS) มหาวิทยาลัยดัลลัส สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2534 และปริญญาเอกวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจการเงิน หรือ DBA (Finance) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2540

พรอนงค์ บุษราตระกูล
พรอนงค์ บุษราตระกูล

ปัจจุบัน “พรอนงค์” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายในให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

ในปี 2556 ทำงานให้ CHARTERED FINANCIAL ANALYST (CFA) ประเทศไทย และปี 2545 CERTIFIED INTERNAL AUDITOR (CIA) สถาบันระหว่างประเทศ ผู้ตรวจสอบบัญชี ประเทศสหรัฐอเมริกา 

โดยที่ผ่านมา พรอนงค์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนถึง 2 วาระ วาระแรกระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2557 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 และวาระที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564