ธปท. ชี้ขาดระยะสั้น เทรนด์หุ่นยนต์เริ่มกระทบตลาดแรงงาน ระยะยาวหวั่นกระทบกลุ่มแรงงานกว่า 3 ล้านคน

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยระยะสั้น เทรนด์การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิต เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย ส่วนในระยะยาว เร่งกลุ่มแรงงานในที่มีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีกว่า 3 ล้านคน ปรับตัว!

นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยข้อมูลจากรายงานวิจัย “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม : กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ” ว่า ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตมากเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่มองว่าหุ่นยนต์ยังไม่สามารถปรับใช้แทนที่แรงงานได้ในฉับพลัน

ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจาก 1. ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการรับ เทคโนโลยี ทั้งด้านเงินทุน และแรงงานที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี 2. หุ่นยนต์ยังไม่สามารถแทนที่งานได้ทุกประเภท เช่น งานบริการที่ต้องใช้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ งานที่มีลักษณะซับซ้อน และ 3. ปัญหาขาดแคลนแรงงานของไทย ทำให้ผู้ประกอบการจ้างงานแรงงานทำงานอื่น แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนงานบางส่วน

“นอกจากนี้ยังมองว่าเทรนการใช้หุ่นยนต์หุ่นยนต์ในภาคการผลิตจะเข้ามาชดเชย การหดตัวของแรงงานไทยที่เริ่มมีช่องว่างจากสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้น” นางสาวนันทนิตย์กล่าว

นางสาวพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะที่ระยะยาว จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มแรงงานที่ทำงานในลักษณะซ้ำๆ มีแบบแผน และมีรูปแบบการตัดสินใจที่แน่นอน มีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากที่สุด เช่น แรงงานในสายการผลิต พนักงานคิดเงิน ฯลฯ โดยในระยะ 10-20 ปีคาดว่ามีกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ 3 ล้านคนจากแรงงานภาคการผลิตที่มีอยู่ทั้งหมด 6 ล้านคน

“ปัจจุบันแรงงานไทยยังขาดทักษะที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะแรงงานที่มีความสามารถทางภาษาและสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค คอมพิวเตอร์ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐ เอกชน ต้องเริ่มให้ความสนใจเพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานก่อนจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะมากกว่านี้”นางสาวพัชรพรกล่าว