“แบงก์ไทย” กำไรกระฉูด 1.76 แสนล้าน เจียดตั้งสำรองเพิ่ม รับโลกป่วน

กำไรแบงก์

ต้องยอมรับว่าเซ็กเตอร์แบงก์ หรือธนาคารพาณิชย์ เป็นเซ็กเตอร์ที่ทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับ 2.50% ในปัจจุบัน แน่นอนว่าทำให้แบงก์ได้อานิสงส์

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงรออยู่ โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ทำให้หลายแบงก์มีการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรับมือ

ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุนกำไรโต

สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2566 และงวด 9 เดือนปี 2566 ที่ประกาศกันออกมาแล้ว โดย “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม พบว่า ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง มีกำไรสุทธิ 9 เดือน รวมกัน 174,873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.89% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และมีกำไร Q3 รวมกัน 57,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% YOY แต่ลดลง -3.43% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

โดยงวด 9 เดือน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำกำไรสุทธิได้สูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% YOY ขณะที่กำไร Q3 ก็โตได้ทั้ง YOY และ QOQ ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก ทั้งงวด 9 เดือนที่ 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% YOY และ Q3 ที่ 11,350 ล้านบาท โต 48.23% YOY และโต 0.5% QOQ

ส่วน บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) กำไร 9 เดือนโตขึ้น 6.99% แต่ Q3 โตลดลงตั้ง YOY และ QOQ ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็มีกำไรเติบโตดีทั้ง 9 เดือนที่โต 19.22% YOY และ Q3 ที่โต 21.68% YOY และโต 1.24% QOQ

ตั้งสำรองเพิ่มรับโลกเสี่ยง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง หลายแบงก์ยังคงให้ความสำคัญกับการรับมือความผันผวน ผ่านการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ดังจะเห็นว่า ช่วง 9 เดือนแรก แบงก์ 8 แห่ง ตั้งสำรองรวมกันที่ 160,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.25% YOY โดยเฉพาะ Q3 ตั้งสำรองที่ 56,219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 25.33% YOY

ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วง 9 เดือนแรก รวมกันอยู่ที่ 491,373 ล้านบาท ลดลง 1.45% YOY ซึ่งใน Q3 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 491,373 ล้านบาท ขยับเพิ่มขึ้น 1.03% QOQ

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังรอบคอบอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

เพื่อเสริมความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงสัญญาณการชะลอตัว และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในกรอบจำกัด

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 44.0% โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน

ด้าน “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ เพื่อรองรับความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ตาราง ผลดำเนินงานแบงก์

คาด Q4 กำไรโตมากกว่า Q3

ฟาก “กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลดำเนินงานแบงก์ที่ออกมา ปัจจัยสนับสนุนมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่มีการขยับเพิ่มขึ้น แม้ว่าแบงก์จะทยอยรับรู้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงเป็นตัวนำในผลประกอบการ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมยังไม่ได้กลับมาเต็มที่

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า ในไตรมาส 4/2566 NIM และรายได้ดอกเบี้ยยังคงเป็นตัวนำเช่นเดียวกัน เนื่องจากธนาคารจะทยอยรับรู้การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งล่าสุด ทำให้ NIM ขยับเพิ่มขึ้นต่อ รวมถึงมีปัจจัยบวกในเรื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิปรับดีขึ้นตามฤดูกาล

“ภาพในไตรมาส 4 น่าจะปรับดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 โดยการเติบโตน่าจะคล้าย ๆ กัน คือ NIM ยังเป็นตัวนำของผลประกอบการ เพราะมีโอกาส NIM น่าจะขยับขึ้นต่อ ส่วนหนี้เสียจะเห็นว่ามีทั้งแบงก์ที่ปรับขึ้นและลง แต่โดยรวมยังเป็นโจทย์หลักที่ธนาคารยังให้ความสำคัญ พร้อมกับเตรียมตัวรับเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย”