ตลท. ตอบปมหุ้นไทยดิ่งหนัก ไม่พบเทรดผิดปกติ นับจากต้นปี -16%

SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหุ้น หุ้นไทย

“ภากร ปีตธวัชชัย” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย ตอบปม ‘หุ้นไทยดิ่งหนัก’ ไม่พบเทรดผิดปกติ ลงตามภาวะตลาดหุ้นภูมิภาค กังวลสงคราม-บอนด์ยีลด์สหรัฐ-ปัจจัยภายในยังไม่มีความชัดเจนหลายปัจจัย กางข้อมูลนับจากต้นปีผลตอบแทน SET Index ติดลบ 16% ฟันด์โฟลว์ไหลออก 1.7 แสนล้านบาท เม็ดเงินต่างชาติเหลือ 5.02 ล้านล้านบาท เตือนภาวะผันผวนลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรม เปิดเหตุผลหากเหตุการณ์คลี่คลาย ประเทศไทย-หุ้นไทย Jump Start ได้เร็ว

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ถือว่ามีความเคลื่อนไหวที่รุนแรงมาก ปิดตลาดปรับตัวลดลงไป 30.48 จุด โดยมีอัตราส่วนการชอร์ตเซลอยู่ที่ 11.34% และอัตราส่วนโปรแกรมเทรดอยู่ที่ 36% ซึ่งยังไม่ผิดปกติ

โดยการปรับลงของดัชนี SET Index เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่อาจจะปรับตัวลงแรงกว่า ด้วยเหตุผลความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกทั้งสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนอยู่หลายปัจจัย

ดังนั้นในช่วงนี้จะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อย เพราะฉะนั้นต้องติดตามข้อมูลผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพราะตลาดหุ้นคงจะมีความผันผวนไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯจะเร่งนำข้อมูลผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดในไตรมาส 3/2566 ออกมาเปิดเผยเพื่อให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ถูกผลกระทบ

โดยอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ถูกกระทบมากคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งมีน้ำหนักในดัชนี SET Index ค่อนข้างมาก ดังนั้นในอนาคตต้องผลักดันให้อุตสหากรรมดังกล่าวใช้เทคโนโลยี และใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้นักลงทุนเห็นว่าถึงแม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมแบบเดิม แต่มีความหลากหลายขึ้น มีการพัฒนาไปสู่ New Economy มากขึ้นได้

“ตอนนี้ถ้าดูตลาดหุ้นไทย ต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรมฯ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นดัชนี และการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างมีผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่อนข้างมาก” ดร.ภากร กล่าว

ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมหุ้นไทยนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) ติดลบกว่า 16% ดัชนีมีการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ช่วงหลังเดือน เม.ย. 2566 อย่างไรก็ตามการปรับตัวลงจะไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมฯ เป็นลักษณะการฟื้นตัวแบบ k-shaped recovery

ทั้งนี้พบว่านักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท (YTD) จากที่เคยเข้ามาซื้อเมื่อปี 2565 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกนั้นส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินระยะสั้น โดยปริมาณการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ต่างชาติถือครองหุ้นไทยทั้งตลาดอยู่ที่ 29% และในเดือน ต.ค. 2566 มีสัดส่วนเท่าเดิมที่ 29.13% แต่จากที่ดัชนีมีการปรับตัวลงนั้น พบว่าปริมาณเงินที่ถืออยู่จาก 5.75 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือ 5.02 ล้านล้านบาท (ลดลงไปราว 7.3 แสนล้านบาท)

ดร.ภากร กล่าวอีกว่า สำหรับจุดขับเคลื่อนของตลาดหุ้นไทยให้กลับมาน่าสนใจลงทุน มองว่าภาพเศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้น่ากังวล หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ หลังช่วงโควิด ความแข็งแกร่งของภาคธนาคารพาณิชย์ โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่เกือบ 20% ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่สูงที่สุดในโลก

เพราะฉะนั้นหากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว ความสามารถในการปล่อยกู้ของแบงก์ไม่มีปัญหา หนี้เสีย (NPLs) ไม่มีสูง ถ้าจะมีความกังวลคงเป็นหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งแบงก์ชาติได้มีการแก้ไข้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ต่างประเทศของภาครัฐเมื่อเทียบกับจีดีพีก็ไม่ได้สูง มีเงินสำรองที่จะสามารถจ่ายหนี้ต่างประเทศได้หลายเดือน

เพราะฉะนั้นตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว เรื่องการลงทุน ส่งออก ท่องเที่ยว และการบริโภค ยังไม่กลับมา ถ้าเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกมีการคลี่คลาย ประเทศไทยควรจะเป็นประเทศที่ที่สามารถ Jump Start ได้เร็วมาก เพราะทุกอย่างมีความพร้อมในการเจริญเติบโตต่อไป