บาทปรับตัวผันผวน ตลาดจับตาผลประชุมเฟดใกล้ชิด

ค่าเงินบาท

เงินบาทปรับตัวผันผวน ตลาดจับตาผลการประชุมเฟดใกล้ชิด ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 98.3% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาครกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 35.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ (30/10) ที่ระดับ 35.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเทกซัสปรับตัวลงสู่ระดับ -19.2 ในเดือน ต.ค.จากระดับ -18.1 ในเดือน ก.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -14

นักลงทุนเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายในปีนี้ แม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 98.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. นอกจากนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 57.7% เมื่อเดือนที่แล้ว

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 91.60 ลดลง 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของไตรมาส 3/66 ลดลงเฉลี่ย 6.19% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.31 ลดลง 5.09% หลังจากส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.88-36.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 1.0605/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/10) ที่ระดับ 1.0583/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานสถิติเยอรมนีรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ -0.1% เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ ไว้ที่ -0.2% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลงของ ECB

รายงานระบุว่า ตัวเลข GDP ที่ปรับตัวลดลงใน Q3/66 เพิ่มความเสี่ยงที่เยอรมนีจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้รายงานระบุว่า ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า เศรษฐกิจจะหดตัวในปีนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0592-1.0647 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0641/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 149.48/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/10) ที่ 149.65/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากผลผลิตภาคยานยนต์ แต่ยังคงต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์เพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยบ่งชี้ถึงภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ของสหรัฐ และยุโรป ซึ่งช่วยให้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้

ในขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้ (31/10) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน ส่งผลให้ค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับ 150 เยน/ดอลลาร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.03-150.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.40/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (31/10-1/11) และธนาคารกลางอังกฤษ (2/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (31/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในยุโรป (31/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (31/10), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากสถาบัน ADP ของสหรัฐ (1/11),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ จากสถาบัน ISM (1/11), ตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐ (1/11), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (2/11), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ค่าจ้างรายชั่วโมง และอัตราการว่างงานของสหรัฐ (3/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.7/9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.8/-10.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ