บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาการประชุมเฟด

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ธปท.ชี้เศรษฐกิจในภาพรวมยังแข็งแกร่ง

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/10) ที่ระดับ 36.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 36.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCB) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือน ส.ค.

ส่วนดัชนี PCR ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.8% ในเดือน ส.ค. และเมื่อเทียบรายเดือนดัชนี PCB พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือน ส.ค.

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. ท่ามกลางความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. เพื่อพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “ธปท. พบสื่อมวลชน” Press Trip 2023 ว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่ยังมีโอกาสที่จะถูกปรับลดมุมมองจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หากนโยบายภาคการคลังมีความเสี่ยง ด้วยปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะและฝั่งการคลัง

โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วจากช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 40% และมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณว่าไม่ควรเกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับกว่า 10% ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะมีมาตรการเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท.จะต้องทำในระยะต่อไป คือ ต้องมองภาพในระยะปานกลางผ่านการทำนโยบายที่พร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง ดูแลระดับเงินเฟ้อไม่ให้สูงและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต มีภูมิคุ้มกันหรือมีกันชนที่สามารถทนทานกับ shock ในด้านต่าง ๆ มี policy space ที่เพียงพอในการทำนโยบายการเงิน และสุดท้ายจะต้องมีทางเลือกไว้สำรองคู่ขนาน เพื่อสร้างโอกาสที่เติบโตจากสิ่งใหม่ ๆ

Advertisment

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้แสดงความเห็นต่อความผัวผวนของค่าเงินบาทว่า ธปท.ยังดูแลใกล้ชิดให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็ต้องไม่ผันผวนเกินไปจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินในระดับดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.95-36.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.95896 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/10) ที่ระดับ 1.0561/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 1.0563/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเยอรมนีประจำไตรมาสที่ 3 ของปีหดตัว 0.1% หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -0.2% แต่ยังถือเป็นการชะลอลงจากไตรมาสที่แล้วที่ระดับ 0%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0545-1.0585 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0582/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/10) ที่ระดับ 149.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 150.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นจัดการประชุมนโยบายการเงินวันแรกในวันนี้ และจะแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้ (31/10)

ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า คณะกรรมการ BOJ อาจจะปรับเพิ่้มคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ในปีงบประมาณ 2566 ไว้ที่ระดับเกือบ 3% จากระดับ 2.5% ที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ก.ค. ทั้งนี้ การปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้ออาจจะนำไปสู่การทบทวนการใช้นโยบายเงินแบบผ่อนคลายพิเศษของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.29-149.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.60/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (31/10), ธนาคารกลางสหรัฐ (31/10-1/11) และธนาคารกลางอังกฤษ (2/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (31/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในยุโรป (31/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (31/10),

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากสถาบัน ADP ของสหรัฐ (1/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐจากสถาบัน ISM (1/11), ตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐ (1/11), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (2/11), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ค่าจ้างรายชั่วโมง และอัตราการว่างงานของสหรัฐ (3/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.10/-8.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.50/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ