บัญชีเงินฝากคนไทยกว่า 80% มีเงินน้อยกว่า 5,000 บาท เหตุค่าครองชีพสูง

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เผยบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท ลดลง เหตุค่าครองชีพสูง คนต้องนำเงินออมออกมาใช้ ตะลึง ! พบบัญชีเงินฝากกว่า 80% มีเงินน้อยกว่า 5,000 บาท

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า สถิติเงินฝาก ตั้งแต่ปี 2562 –ส.ค.2566 พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท จะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยล่าสุด มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา และในเดือน ส.ค.2566 หดตัว -3.61%

ในขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลง ทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

“เป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนัก ต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้

ทั้งนี้ ยังพบกลุ่มคนที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท มีมากถึง 81 ล้านราย หรือมากกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝาก 93 ล้านราย โดยพบว่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ประชาชนมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน”

อัปเดตสถิติเงินฝาก (2)

นายทรงพล กล่าวว่า จากการติดตามสถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) ในหลายเรื่อง

รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ สคฝ. ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและชำระบัญชี รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้ประชาชนด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์

โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ.2567 ที่สำคัญ เช่น การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์

รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในสถาบันการเงินที่ผู้ฝากใช้บริการและเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของประเทศ