“จุลพันธ์” ตั้งคณะทำงานสังคายนากฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ชี้บังคับใช้มากว่า 3 ปี พบมีปัญหาค่อนข้างมาก ล่าสุดเกษตรกรโวยประกาศ “มหาดไทย-คลัง” ป่วนชาวสวนยาง-สวนผสม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กระทรวงการคลังมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เนื่องจากหลังจากกฎหมายบังคับใช้มากว่า 3 ปี พบว่ามีปัญหาการจัดเก็บอยู่ค่อนข้างมาก
“ตอนนี้เรามีคณะทำงานขึ้นมาดู ก็ต้องหาวิธีแก้ไข เพราะมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา หลังจากที่ใช้มา 3 ปีกว่า” นายจุลพันธ์กล่าว
ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีเกษตรกรหลายส่วนออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดิน สำหรับที่ดินเกษตรกรรมที่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดเกณฑ์การปลูกพืชไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่นั้น รมช.คลังกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาแก้ไขกันต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้มีหลายส่วนที่ต้องแก้ไข
ก่อนหน้านี้ ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ชาวสวนยางประสบปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน จากประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย กำหนดในบัญชีแนบท้ายว่า ต้องปลูกต้นยางพารา 80 ต้น/ไร่ จึงจะเสียภาษีที่ดินแค่ 0.15% แต่ถ้าปลูกไม่ครบ 80 ต้น/ไร่ ก็ต้องเสียภาษีถึง 1.2%
ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ชาวสวนยางตื่นตัวไปทั่วประเทศ เพราะสวนยางส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกครบ 80 ต้นต่อไร่ และที่สำคัญ ประกาศดังกล่าวขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ที่จำกัดความคำว่า “สวนยาง” เฉลี่ยอยู่ที่ 25 ต้นต่อไร่
“ปัจจุบันสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จำนวน 22 ล้านไร่ ต้องจ่ายภาษีเข้ากองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง หรือเงินเซส (cess) 2 บาท/กก. จากยางทั้งหมดจำนวน 4 ล้านตัน/ปี เป็นเงินประมาณ 8,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
เมื่อประกาศฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะทำให้ชาวสวนยางต้องเสียภาษีบวกขึ้นไปถึง 8 เท่า ถ้าเสียภาษี 100 บาท ปรับเป็น 1,500 บาท ในปีภาษี 2567 จะได้เห็นชาวสวนยางทั่วประเทศเกิดการประท้วงขึ้น” ดร.อุทัยกล่าว
นอกจากนี้ ก็มีเกษตรกรที่ทำไร่นาสวนผสมออกมาระบุว่า ได้รับผลกระทบจากประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย โดยไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ตามข้อกำหนด โดยจะทำหนังสือร้องเรียนให้มีการแก้ไขต่อไป
รวมถึงที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในหลายประเด็น อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีของห้างสรรพสินค้า รวมถึงบรรดาหอพัก อพาร์ตเมนต์ที่ลดลง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งต้องประเมินอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณาแบบสอบถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ในการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป