PwC แนะผู้ประกอบการ เตรียมรับมือเกณฑ์จัดเก็บภาษีใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

PwC

PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจ ปรับตัวเพื่อรับมือการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ แนวทางการตีความ ข้อปฏิบัติของกรมสรรพากร นโยบายทางภาษีที่ได้รับการพัฒนาและอาจถูกนำมาปรับใช้ในอนาคต สอดรับกับการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนแบบไร้รอยต่อของผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานภาษีและกฎหมาย PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Maximise Shareholder Value 2024 ในหัวข้อ ‘รับมือความท้าทายในปัจจุบัน เปิดรับโอกาสอันยั่งยืนแห่งอนาคต (Embracing today’s complexities, welcoming tomorrow’s opportunities) ว่า

ในโลกปัจจุบันที่เป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจแบบไร้พรมแดน หน่วยจัดเก็บภาษีในประเทศต่าง ๆ มีการหารือทั้งในเชิงวิชาการและทางปฏิบัติเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์สากลอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันและสอดรับกับแนวคิดที่ว่า ทุกประเทศควรได้รับสิทธิในการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรมจากการทำธุรกรรมข้ามชาติของผู้ประกอบการ

ซึ่งปัจจุบัน ภาครัฐของไทยไม่ได้นิ่งเฉยต่อกรอบการพัฒนาการจัดเก็บภาษี โดยประเทศไทยมิได้มีส่วนร่วมและนำนโยบายการจัดเก็บภาษีในระดับสากลมาปรับใช้เป็นกฎหมายภายในอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีการโอนถ่ายกำไรโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายภาษี เพื่อการหลบเลี่ยง กัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting : BEPS)

การแก้ไขอนุสัญญาพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อน (MLI) หลักการของ Pillar 1 และ Pillar 2 ที่เกี่ยวข้องกับจัดสรรสิทธิในการจัดเก็บภาษีให้แต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการความเสี่ยงด้านการกำหนดราคาโอน ผ่านข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (APA) และวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (MAP) เป็นต้น

ในอนาคต กรมสรรพากรมีแนวทางในการพัฒนาระบบภาษีไทยให้สอดคล้องกับหลักการสากลอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการปรับใช้แผนปฏิบัติราชการกรมสรรพากร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กรมสรรพากรได้พิจารณาทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบายภาษีและการพัฒนาการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนข้อตกลงความร่วมมือด้านภาษีอากรในระดับนานาชาติ เช่น OECD Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) หรือกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี และการโอนกำไรไปต่างประเทศ

และ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes หรือ กรอบความร่วมมือเกี่ยวกับความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านภาษี

นอกจากการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกฎเกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติทางภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายปัจจุบันด้วย การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงต้องคำนึงถึงการวางแผนโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของการกำหนดความมุ่งหมายทางการค้า

การเลือกรูปแบบการลงทุน การบริหารความเสี่ยงและการสร้างโอกาสทางภาษีผ่านการควบรวมกิจการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานเรื่องภาษี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และมีความพร้อมในเชิงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในอนาคต

นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงทางภาษีสรรพากร การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการค้าข้ามพรมแดนและการปฏิวัติดิจิทัล ยังนำมาซึ่งความท้าทายทางศุลกากรในมิติของแนวโน้มการตรวจสอบหรือสอบสวนในด้านพิกัด การประเมินราคา และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร (BOI)

อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่อง มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้แนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทย และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจของผู้ประกอบการ