ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี-ลดค่าธรรมเนียมควบรวมธนาคารพาณิชย์ รับโลกดิจิทัล

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 เมษายน 2561 ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. หรือมาตรการสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งหลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจเนื้อหาและประกาศบังคับใช้ต่อไป

นายณัฐพรกล่าวว่า กระทรวงการคลังระบุเหตุผลของการเสนอเรื่องนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันระบบธนาคารมีการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนการเชื่อมต่อ จึงต้องมีมาตรการทางภาษีและมาตรการการลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการควบรวม ให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับธนาคารที่มีเงินทุนเพียงพอ เพื่อแข่งขันและลงทุนในระดับอาเซียนได้ โดยมีการยกตัวอย่าง ธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ขนาดปกติมีสินทรัพย์ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เท่านั้น

นายณัฐพรกล่าวว่า สำหรับมาตรการทางภาษี ได้แก่ กรณีธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้กับธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงทำให้ดีขึ้น และหากสินทรัพย์หลังควบรวมกันแล้วเกิน 4 ล้านล้านบาท ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ถ้าอยู่ระหว่าง 3-4 ล้านบ้านบาท หักได้ 1.75 เท่า ระหว่าง 2-3 ล้านล้านบาท ได้ 1.5 เท่า และตั้งแต่ 1-2 ล้านล้านบาทได้ 1.25 เท่า

“มาตรการของธนาคารที่มีสินทรัพย์ขนาด 1-2 ล้านล้านบาท เป็นมาตรการจูงใจให้ธนาคารขนาดเล็ก มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะทำให้ขนาดของเศรษฐกิจโตขึ้นตามไปด้วย ต้นทุนธนาคารลดลง จำนวนบริการของสินค้าที่ให้บริการลูกค้าก็จะมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงว่าธนาคารพาณิชย์เหลือจำนวนน้อยลงแล้วผู้บริโภคจะโดนเอาเปรียบ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการดูแลอยู่แล้ว”

สำหรับเงื่อนไขการยกเว้นภาษีสำหรับรายจ่าย นายณัฐพรกล่าวว่า จะต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้ไปเพื่อการลงทุน ดังนี้ 1.รายจ่ายเพื่อการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะต้องมีระบบคอลแบงก์กิ้งใหม่ รวมทั้งรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวร ที่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย 2.รายจ่ายเพื่อการเลิกหรือปรับปรุงสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาจ้าง หรือสัญญาบำรุงรักษา ที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือธนาคารพาณิชย์ 3.กรณีรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการรื้อถอนเครื่องจักร ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ โดยระยะเวลาสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่เข้าควบกันหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

สำหรับมาตรการการลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่วาว่า ครม.เห็นควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเครื่องจักรตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องจักร

ที่ปรึกษารมต.สำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า เข้าใจว่ายังไม่มีธนาคารพาณิชย์แสดงความจำนงมา แต่กระทรวงการคลังคงมีตัวเลขขนาดของธนาคารที่จะแข่งขันได้ในสภาวะของการเชื่อมต่อในภูมิภาคควรจะมีขนาดของธนาคารเท่าไร อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อสังเกตว่าควรจะกำหนดให้ครอบคลุมในกรณีของกลุ่มธุรกิจการเงิน และสถาบันการเงินด้วย และจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49%

“กระทรวงการคลังได้ประเมินว่ามาตรการจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่คาดว่าจะถูกชดเชยด้วการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบปรับปรุงคอลแบงก์กิ้ง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ น่าจะประมาณ 3,000 – 7,000 ล้านบาทต่อราย ที่ควบรวมกัน” นายณัฐพรกล่าว