เช็กลิสต์รายการลดหย่อนภาษีปี’66 “กองทุน TESG” ได้อีก 1 แสน

เปิดเช็กลิสต์รายการลดหย่อนภาษีปี 2566 เพิ่มเติม “กองทุน TESG“ สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่นับรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่น “ช้อปดีมีคืน” ที่เปิดให้ใช้สิทธิไปเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 อีกแค่ไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีกระต่ายทอง (เถาะ) ที่กำลังจะกระโดดไปสู่ปีมังกรทอง (มะโรง) ในปี 2567 กันแล้ว ซึ่งพอถึงช่วงปลายปีนอกจากเทศกาลคริสต์มาสและการฉลองปีใหม่ที่หลายคนรอคอยแล้ว

สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้เสียภาษี ช่วงปลายปีอาจจะเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นวางแผนภาษี มองหาค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ และเตรียมยื่นภาษีในช่วงต้นปีที่กำลังจะมาถึง และหากเราเป็นหนึ่งที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

ADVERTISMENT

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมค่าลดหย่อนภาษีปี 2566 มาให้แล้ว

สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง

1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว

กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้ค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท โดยผู้เสียภาษีจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้ทันทีที่ทำการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91)

2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส

กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

ADVERTISMENT
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 คน
  • ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายกำหนด
  • คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ต้องเป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือรายได้ในปีนั้น ๆ
  • ในกรณีที่สามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ กฎหมายอนุญาตให้ยื่นภาษีรวมกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้

3.ค่าลดหย่อนบุตร

กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตร 2 ข้อคือ

  • ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายคนละ 30,000 บาท และหากมีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบุตรได้คนละ 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรม สำหรับผู้ที่มีบุตรบุญธรรม หรือมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบุตรได้สูงสุด 3 คน และจะต้องเป็นบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

เงื่อนไขการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตร

ADVERTISMENT
  • บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
  • ในกรณีที่บุตรมีอายุ 21-25 ปี บุตรจะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส.ขึ้นไปเท่านั้น
  • บุตรจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)

4.ค่าลดหย่อนบิดามารดา

1.ค่าลดหย่อนบิดามารดาตัวเอง : กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่เลี้ยงดูพ่อแม่ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ

  • จะต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพ่อแม่ที่แท้จริงเท่านั้น
  • พ่อ-แม่ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • พ่อ-แม่ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดา สำหรับคนมีพี่น้อง

ในกรณีที่คุณมีพี่น้องและต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดา เราแนะนำให้พูดคุยกับพี่หรือน้องให้ชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ค่าลดหย่อนบิดามารดาสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถยื่นขอใช้สิทธิซ้ำกันได้

และการใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ จะต้องใช้หนังสือรับรองการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03) พร้อมให้พ่อแม่เซ็นชื่อกำกับเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย

2.ค่าลดหย่อนบิดามารดาคู่สมรส : ในกรณีที่คุณดูแลพ่อแม่คู่สมรส กฎหมายกำหนดให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่คู่สมรสได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า

  • จะต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพ่อแม่ที่แท้จริงเท่านั้น
  • พ่อ-แม่ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • พ่อ-แม่ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • คู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และครอบครัวฝั่งคู่สมรสจะต้องไม่มีใครใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่
  • ต้องใช้หนังสือรับรองการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03) พร้อมให้พ่อแม่เซ็นชื่อกำกับเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย

5. ค่าลดหย่อนผู้พิการ หรือทุพพลภาพ

หากเป็นผู้ดูแลหรืออุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเอกสารที่ต้องใช้เป็นหลักฐานคือ

  • บัตรประจำตัวผู้พิการ หรือใบรับรองแพทย์
  • เอกสารรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ทุพพลภาพ (ลย.04)

6. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และจะต้องเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรที่จ่ายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • ต้องเป็นค่าฝากครรภ์ หรือคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
  • ในกรณีที่ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามปีที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • ในกรณีที่ต้องยื่นภาษีทั้งสามีและภรรยา กฎหมายกำหนดให้ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรเป็นของภรรยา แต่หากภรรยาไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น ๆ สามีจึงจะสามารถใช้สิทธิฝากครรภ์และคลอดบุตรได้
  • ใช้ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

7. ประกันชีวิต

ในกรณีที่จ่ายเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมา สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายตลอดทั้งปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป ที่ทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น

8. ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้มี 2 กรณีคือ

1.ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายมาตลอดทั้งปี ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท และจะต้องเป็นประกันสุขภาพในกลุ่มต่อไปนี้

  • ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาล เนื่องจากอาการเจ็บป่วยและอาการบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • ประกันสุขภาพระยะยาว (Long Term Care)

2.ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และพ่อแม่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องให้พ่อแม่มีอายุครบ 60 ปี

9. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และสามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องเป็นประกันบำนาญที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ทำและจะต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น

10. ค่าลดหย่อนประกันสังคม

เนื่องจากสิ้นสุดการปรับอัตราประกันสังคมจาก 5% เหลือ 3% ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 ทำให้อัตราเงินสมทบประกันสังคมในปี 2566 ได้ถูกปรับกลับมาเป็น 5% ตามเดิม ส่งผลให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมในปี 2566 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท (หมายเหตุ : จำนวนเงินสมทบประกันสังคมอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการประกาศปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในอนาคต)

11. ดอกเบี้ยบ้าน

หากในช่วงปีที่ผ่านมาได้ซื้อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดฯ สามารถนำดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อที่อยู่อาศัยมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่ซื้อแบบกู้ร่วม สิทธิลดหย่อนภาษีจะเฉลี่ยตามจำนวนคนร่วมกู้ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ

  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับการซื้อที่อยู่อาศัยกี่หลังก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • ต้องใช้เอกสารรับรองการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เจ้าหนี้ออกให้ เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย

12. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ก็ได้ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมดังนี้

  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และสามารถขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF แต่จะต้องทำการซื้อต่อเนื่องทุกปี
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ได้ในปีที่เริ่มลงทุน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

13. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

กองทุนรวมเพื่อการออม SSF หรือ Super Saving Fund สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ก็ได้ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมดังนี้

  • ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อกองทุน
  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน SSF และไม่ต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปี
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ภายในปี 2563-2567

14. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข./กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

โดยสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

15. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

16. บริจาคลดหย่อนภาษี

เงินบริจาคลดหย่อนภาษี ตามที่กฎหมายกำหนดประกอบด้วย

  • บริจาคลดหย่อนภาษี 2 เท่า หากคุณบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยงาน หรือโรงพยาบาลที่เข้าเงื่อนไขได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร
  • บริจาคลดหย่อนภาษีทั่วไป สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหัก
  • บริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

17. กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG fund)

สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศไทยเท่านั้น อาทิ หุ้นไทยในตลาด SET และ mai ตราสารหนี้ไทย โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นหุ้นที่จดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG)

และหุ้นที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตราสารหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย Green Bond Sustainability Bond และ Sustainability-linked Bond รวมถึงโทเค็นดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน

โดยสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ไม่นับรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมดังนี้

  • ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 8 ปี นับจากวันที่ซื้อกองทุน
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ในปี 2566-2575

18. ช้อปดีมีคืน 2566

มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นการลดหย่อนภาษีปี 2566 จากการใช้จ่ายจริงสูงสุด 40,000 บาท เมื่อซื้อสินค้าและบริการพร้อมออกใบกำกับภาษี ซึ่งมีมาตรการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น

1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาทแรก จะต้องมีใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษหรือใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาทที่เหลือ จะต้องมีใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น

สำหรับสินค้าประเภทหนังสือ e-Book และสินค้า OTOP จะต้องใช้ใบเสร็จรับเงินด้วย ส่วนค่าสินค้าและบริการบางชนิดที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

รวมถึงค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย