ปลุกช้อปดีมีคืนภาษี 5 หมื่น ไฟเขียวค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว โรงแรม-ตั๋วเครื่องบิน

อัพเดตล่าสุด 27 พ.ย. 2567 เวลา 11.18

คลังยุคเศรษฐากระตุ้นจับจ่ายก่อนแจก 10,000 บาท ด้วยโครงการ “e-Refund” ช้อปดีมีคืนภาษี 50,000 บาท เอ็กซ์ตร้าเพิ่มรายการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว “ตั๋วเครื่องบิน-ค่าโรงแรม-ค่าไกด์-ค่ารถนำเที่ยว” ได้สิทธิด้วย ชง ครม.วันที่ 28 พ.ย. 66 ไฟเขียวเริ่มใช้จ่ายได้ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67 รวม 46 วัน เผยยอดใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและบริการได้ทุกรายการ ที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้น “Negative List” 7 ประเภท “เติมน้ำมัน” ไม่ได้ โบรกฯประเมินปลุกเงินสะพัด 2 แสนล้าน-มากกว่า “ช้อปดีมีคืน”

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อนจะมีการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในช่วงกลางปี 2567 จะเริ่มต้นด้วยมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและประชาชน โดยออกมาตรการคืนภาษีบุคคลธรรมดาให้กับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งในครั้งนี้รายการใช้จ่ายและวงเงินจะแตกต่างจากมาตรการเก่าที่เรียกว่า “ช้อปดีมีคืน”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบมาตรการ “e-Refund” โดยประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการมูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาท

จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี เฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาดำเนินมาตรการไว้รวมทั้งสิ้น 46 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี

ยกเว้น 7 ประเภทสินค้า/บริการ

ทั้งนี้ มาตรการคืนภาษี หรือ e-Refund จะยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ (negative list) รวม 7 รายการ ได้แก่ 1.ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 2.ค่าซื้อยาสูบ 3.ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 4.ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

5.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต 6.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย และ 7.ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น

รายการใหม่ท่องเที่ยวได้สิทธิ

มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน-ประชาชนครั้งนี้มีรายการใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่เคยทำในปีที่ผ่านมา คือมีการเสนอให้เพิ่มรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไม่เกิน 50,000 บาท มาคืนภาษีได้ด้วย อาทิ ค่าโรงแรม ที่พัก รถนำเที่ยว ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าแพ็กเกจทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน หากใช้จ่ายในช่วงเวลามาตรการ และจ่ายให้กับผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็สามารถใช้สิทธิได้ทั้งหมด

“สินค้าและบริการอื่น ๆ ถ้าไม่ใช่ตามที่อยู่ใน negative list ก็ได้หมด แต่จะต้องซื้อจากร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ หรืออยู่ในระบบ e-Tax invoice & e-Receipt ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,400 รายแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

เพิ่มเติมจากมาตรการคืนภาษีบุคคลธรรมดา หรือ “ช้อปดีมีคืน” จากสินค้าที่เข้าเกณฑ์การลดหย่อนในปีภาษี 2566 ที่ใช้ได้กับสินค้า 3 กล่ม อาทิ 1.สินค้า หรือบริการ ที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะต้องเป็นสินค้าหรือบริการภายในประเทศเท่านั้น เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าซ่อมรถ ค่ายารักษาโรคและอาหารเสริม

กลุ่มที่ 2.สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว 5 ประเภท คือ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ และเครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร

และกลุ่มที่ 3.หนังสือ หรือ e-Book แต่ไม่รวมถึงนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ลดหย่อนภาษีได้คืน 1.75 หมื่น

ทั้งนี้ จากการคำนวณแล้ว จะพบว่าหากผู้เสียภาษีใช้สิทธิลดหย่อนเต็มที่ 50,000 บาท หากเป็นผู้ที่เสียภาษีอยู่อัตราสูงสุดที่ 35% ก็จะได้เงินคืนภาษีสูงสุดถึง 17,500 บาทเลยทีเดียว แต่หากใช้สิทธิลดหย่อนแค่ 10,000 บาท ก็จะได้คืนภาษี 3,500 บาท

ขณะที่ผู้ที่เสียภาษีในอัตราต่ำสุดที่ 5% จะได้เงินคืนภาษีสูงสุด 2,500 บาท หากใช้สิทธิลดหย่อนเต็มเพดานที่ 50,000 บาท และจะได้เงินคืน 500 บาท หากใช้สิทธิลดหย่อนเพียง 10,000 บาท

หวั่นมาตรการไม่ชัดฉุดบริโภค

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า โครงการ e-Refund ของภาครัฐจะสามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายได้อย่างมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีและมีเม็ดเงินในทุกปี ซึ่งในปีนี้มีวงเงินช่วยถึง 50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม มองว่าควรจะมีการกำหนดมาตรการให้ชัดเจนและเร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคจากไตรมาส 4/2566 ไปในไตรมาส 1/2567 สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการ e-Refund คือ COM7, CRC

ปลุกเงินสะพัด 2 แสนล้าน

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า โครงการ e-Refund ในภาพรวมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่มีความคล้ายคลึงกับมาตรการที่ผ่านมา อย่างช้อปดีมีคืน-ช้อปช่วยชาติ

“หากเปรียบเทียบกันแล้ว โครงการครั้งที่ผ่านมาให้วงเงินลดหย่อนภาษีประมาณ 40,000 บาท ขณะที่ e-Refund ให้วงเงิน 50,000 บาท โดยโครงการช้อปดีมีคืนในปี 2563 มีเงินสะพัดประมาณ 111,000 ล้านบาท โดยหากมีวงเงินที่มากกว่าเป็น 50,000 บาท อาจจะเห็นวงเงินสะพัดได้ราว 100,000-200,000 ล้านบาท”

ขณะเดียวกัน e-Refund จะใช้ได้กับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในธุรกิจเกี่ยวกับการอุปโภค-บริโภค ค้าปลีก ซึ่งหากย้อนดูในไตรมาส 4/2563 ที่ยังไม่มีโครงการคนละครึ่ง แต่มีเงินสะพัดจำนวนมาก ดัชนีหุ้น (SET) กำไรดอกเบี้ย ประมาณ 34% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) โดยกลุ่มค้าปลีกโตได้ดีถึง 14% QOQ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ 2566 กลุ่มค้าปลีกก็จะได้ประโยชน์เหมือนที่ผ่านมา

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะโดดเด่นจากมาตรการ e-Refund เป็นพวกหุ้นที่เกี่ยวกับการอุปโภค บริโภค โดยกลุ่มค้าปลีกก็มีความโดดเด่นแทบทั้งหมด อาทิ CPAXT, CPALL, CRC, BJC, HMPRO, COM7, JMART, DCC เป็นต้น รวมถึงกลุ่มร้านอาหารท่องเที่ยวก็จะดีด้วย อาทิ MINT, AU เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทค้าขายที่มียอดขายต่อปีสูงคาดว่าจะได้ประโยชน์ด้วย

ปัจจัยบวกหนุนลงทุน-ตลาดหุ้น

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรการจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงต้นปี 2567 ได้ โดยจะเห็นจากมาตรการช้อปดีมีคืน ช้อปช่วยชาติ ที่ผ่านมา สามารถช่วย sentiment ในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่มีการดำเนินมาตรการ ขณะที่ SET Index มักจะเคลื่อนไหวในเชิงบวกช่วงดำเนินมาตรการเช่นกัน ดังนั้น จึงมองว่ามาตรการ e-Refund จะเป็นแรงบวกกับบรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจได้

โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะมีมาตรการ SET Index เคลื่อนไหวไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่ในช่วง 1 เดือนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีก สินค้าไอที สามารถเคลื่อนไหวได้ค่อยข้างดี

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการ e-Refund จะมาสามารถเทียบเท่ากับมาตรการลดหย่อนภาษีอื่นที่ผ่านมาได้ และจะเป็นสัญญาณบวกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถลดหย่อนได้ 50,000 บาท มากกว่ารอบที่ผ่านมา

คาดหนุนจีดีพีเติบโต 0.1-0.2%

นายณัฐพลกล่าวด้วยว่า ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน ช่วงเดือนธันวาคม ก่อนที่มาตรการ e-Refund จะเริ่ม แนะนำ COM7, SYNEX, GLOBAL, DOHOME ขณะที่ช่วงที่มาตรการเริ่ม กลุ่มที่เคลื่อนไหวได้ดีจะเป็นกลุ่มค้าปลีกที่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค ได้แก่ CPAXT, CPALL, CRC, BJC

“อย่างไรก็ตาม มาตราการ e-Refund อาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สั้น แต่ก็ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นได้ที่ 0.1-0.2% ของ GDP ในปี 2567”

สินค้าที่เข้าเกณฑ์การลดหย่อนภาษีของโครงการช้อปดีมีคืน 2566 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.สินค้า หรือบริการ ที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะต้องเป็นสินค้าหรือบริการภายในประเทศเท่านั้น เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ค่าซ่อมรถ ค่ายารักษาโรค และอาหารเสริม เป็นต้น

2.สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว 5 ประเภทคือ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ และเครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร

3.หนังสือ หรือ e-Book แต่ไม่รวมถึงนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต