เปิดเงื่อนไข “e-Refund” ลดหย่อนภาษีมากกว่า “ช้อปดีมีคืน” เริ่ม 1 ม.ค.67

e-refund ลดหย่อนภาษี ช็อปปิ้ง

รัฐบาลเร่งกระตุ้นจับจ่ายตั้งแต่ต้นปี’67 “เศรษฐา” ประกาศลุย “e-Refund” ลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 50,000 บาท เริ่มมาตรการตั้งแต่ 1 ม.ค.67

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญ ๆทั้งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และอีกมาตรการที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ e-Refund

โดยนายกฯ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการมูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และ เฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ซึ่งมาตรการ “e-Refund” จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการ “e-Refund” จะให้ประชาชนได้ภาษีคืน (Refund) ได้มากกว่ามาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ในอดีต

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการ e-Refund จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้มีการดำเนินโครงการช้อปดีมีคืน 2566 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท

ทั้งนี้ กรณีค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก จะใช้เป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และ ส่วนที่เกิน 30,000 บาท สามารถใช้ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนได้เพิ่มเติมอีก 10,000 บาท (On top)

สำหรับรายการหักลดหย่อนภาษี ในโครงการ “ช้อปดีมีคืน” มีดังนี้

  • ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ค่าสินค้าโอท็อป
  • ค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีมาตรการมา โดยสถานีบริการน้ำมันนั้นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล

ส่วนส่วนรายการหักลดหย่อนภาษี ในโครงการ “e-Refund” เบื้องต้น

  • ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่า “สินค้าและบริการ” ดังกล่าว จะมีการประกาศห้ามลดหย่อนให้กับรายการใดบ้างต่อไป