ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า รับตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่งเกินคาด

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า รับตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่งเกินคาด หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นถึง 216,000 ตำแหน่ง ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นายกฯเศรษฐาจะเข้าพบผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพื่อพูดคุยเรื่องดอกเบี้ย

วันที่ 8 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (08/01) ที่ระดับ 34.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (05/01) ที่ระดับ 24.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐที่แข็งแกร่ง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรช่วงคืนวันศุกร์ (05/01) เพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 173,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย.

สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนที่สูงกว่าคาด และตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%

ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 3.9% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 4.1028 ในคืนวันศุกร์ (05/01) ก่อนจะย่อกลับลงมาที่ระดับ 4.0514 ในช่วงบ่ายวันนี้ (08/01)

ทั้งนี้ตลาดจับตารอดูดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. ที่มีกำหนดเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (11/01) และการรายงานผลประกอบการของบรรดาธนาคารขนาดใหญ่เพื่อพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยในประเทศ เมื่อคืนวันอาทิตย์ (07/01) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสวนทางกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ติดลบติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs

และได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในเช้าวันนี้ (08/01) ว่าจะมีเข้าพบกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือ ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.57-35.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (08/01) ที่ระดับ 1.0946/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (05/01) ที่ระดับ 1.0911/12 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลการส่งออกของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% เนื่องจากอุปสงค์ในสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่การนำเข้าปรับตัวขึ้น 1.9% ในเดือน พ.ย. จากเดือน ต.ค. ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

รายงานระบุว่า เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.04 หมื่นล้านยูโร (2.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน พ.ย. เทียบกับการเกินดุลที่ 1.77 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีได้เปิดเผยยอดสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน พ.ย.ต่ำกว่าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1% ในเดือน เม.ย. เนื่องจากอุปสงค์ที่ซบเซาลง ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0921-1.0952 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0938/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (08/01) ที่ระดับ 144.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (05/01) ที่ระดับ 145.33/34 โดยค่าเงินเยนทรงตัวอยู่ในกรอบ เนื่องจากตลาดปิดทำการในวันศารทวิษุวัติ ขณะที่ตลาดเอเชียยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.08-144.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แถลงการณ์ของนายบอสติก สมาชิกเฟด (09/01), ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน พ.ย. (09/01), ดุลการค้าเดือน พ.ย. (09/01), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (11/01), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. (11/01), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. (12/01)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.00/-5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ