ดอลลาร์เคลื่อนตัวในกรอบจำกัด จับตาเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์เคลื่อนตัวในกรอบจำกัด จับตาเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

วันที่ 11 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/01) ที่ระดับ 35.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ 10/01) ที่ระดับ 34.98/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าท้ายตลาด เนื่องจากตลาดยังกังวลแรงกดดันของรัฐบาลต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้น

ส่วนด้านสกุลเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทาง สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้นกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 0.2% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากลดลง 0.3% ในเดือน ต.ค. และเมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 3.0% ในเดือน พ.ย.

ขณะที่ยอดขายในภาคธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน พ.ย. หลังจากลดลง 1.5% ในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.34 เดือน ในการขายสินค้าจนหมดสต๊อก เมื่อเทียบกับระดับ 1.35 เดือนในเดือน ต.ค. โดยในคืนนี้ (11/1) นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐเพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด หลังวานนี้ปรับตัวผันผวนขึ้นลงแรงตลอดทั้งวัน โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของไทย รวมถึงประเด็นดิจิทัลวอลเลต ก่อนที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่า ภายหลังนายกฯระบุว่า พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงติดตามการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในคืนนี้ (1/1) อย่างใกล้ชิด โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังของไทย เปิดเผยว่า การพบปะกับผู้ว่าการ ธปท. นั้นเป็นการพูดคุยหารือในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยร่วมกัน โดยไม่ได้มีเรื่องที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ และระบุอีกว่า ในเรื่องดอกเบี้ยนั้นรัฐบาลไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายการทำงานของ ธปท.

เพราะ ธปท.เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ รวมถึงมีการพูดคุยกันว่า เหตุผลหนึ่งที่เงินเฟ้อไทยติดลบ มาจากมาตรการลดค่าพลังงาน และพร้อมไปนั่งคุย-กินกาแฟที่บางขุนพรหม ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.93-35.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/01) ที่ระดับ 1.0977/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/01) ที่ระดับ 1.0946/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมา โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10/1) ตัวเลขค้าปลีกของอิตาลีขยายตัว 0.4% สูงกว่าระดับคาดการณ์ 0.2% และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสขยายตัว 0.5% สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 0.1%

ขณะที่ระหว่างวัน (11/1) มีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีอยู่ที่ระดับ -1.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -0.2% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0967-1.0988 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0968/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/01) ที่ระดับ 145.46/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/01) ที่ 144.88/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

โดยวันนี้มีการเปิดเผยตัวเลขรายงานดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (Leading Inndicators Index) เป็นดัชนีรวมที่ประกอบด้วยดัชนีบ่งชี้ทางเศรษฐกิจจำนวน 12 ดัชนี ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำขึ้นเพื่อทำนายในทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 107.7 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 107.9 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.25-145.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.56/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์จากสหรัฐ (11/01), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. ของสหรัฐ (11/01), ดัชนีราคาผู้บริ โภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. ของจีน (12/01) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรประจำเดือน พ.ย. (12/01) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. ของสหรัฐ (12/01)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.40/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.90/-5.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ