ประกันภัยแข่งดุชิงเค้ก EV เสี่ยงสูง-เบี้ยแพงกว่าสันดาป15%

ประภันภัยรถอีวี
ภาพจาก : freepik

“ประกันภัยรถอีวี” คึกคักรับกระแสตลาดรถอีวีโตก้าวกระโดด 22 บริษัทร่วมชิงเค้ก ขาใหญ่แย่งจับมือค่ายอีวีจีน “เมืองไทยประกันภัย” ผนึก “BYD-AION” บุกเต็มสูบ เผยตัดเบี้ยแย่งพอร์ตแต่ไม่ถึงขั้นสงคราม ชี้ค่าเบี้ยประกันรถ EV ปี’67 ยังแพงกว่าสันดาป 10-15% เหตุต้นทุนความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะ “แบตเตอรี่” “กรุงเทพประกันภัย” จับมือ 7 ค่ายรถอีวีจีน-ยุโรป หวั่นสมรภูมิแข่งเดือด “ตัดราคาเบี้ย” จุดเสี่ยงธุรกิจ ถอนตัวร่วมค่ายอีวีแคมเปญแถมประกัน 2 ปี คปภ.คลอดเกณฑ์ประกันอีวีบังคับใช้ทั้งระบบ 31 พ.ค. 67 ระบุ “ประวัติคนขับ” เคลมตามตัวบุคคล ขับดีไม่เคลม ได้ส่วนลดประวัติดี 2 เด้ง สูงสุด 50%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเภทรถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวน 75,690 คัน จากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งทั่วประเทศ 634,948 คัน ถือว่าอัตราการเติบโตของตลาดรถอีวีอย่างรวดเร็วและมีทิศทางแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอีวี ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจประกันภัยรถอีวี เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยของรถสันดาปและรถอีวีจะมีความแตกต่างกัน

ประกันอีวีใหม่บังคับ พ.ค. 67

โดยล่าสุดนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เซ็นลงนามคำสั่ง หลักเกณฑ์ “แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) โดยให้บังคับใช้กับการทำสัญญาประกันภัยใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 อย่างไรก็ดี กรณีบริษัทประกันวินาศภัยที่ยังไม่สามารถออกกรมธรรม์ตามคำสั่งนี้ได้ คปภ.อนุโลม ให้ใช้เงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สันดาปเดิม ออกให้ลูกค้าไปพลางก่อน แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 2567

เงื่อนไขสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวีคือ 1.บังคับให้ระบุชื่อผู้ขับขี่ (สูงสุด 5 คน) และกำหนดอัตราร่วมจ่ายส่วนแรก เมื่อผู้ขับขี่ไม่ปรากฏชื่อในรายชื่อที่แจ้งไว้ 2.ใช้ประวัติผู้ขับขี่ที่แย่สุดเป็นตัวคำนวณ “ส่วนลด-ส่วนเพิ่ม” เบี้ยประกันสูงสุด 50% จากเดิมใช้ประวัติรถเป็นเกณฑ์

3.อัตราเบี้ยประกันเพิ่มพิกัด “ขั้นสูง” เพื่อให้ยืดหยุ่นแก่บริษัทในการรับประกัน โดยกำหนดพิกัดเบี้ยเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้ฐานราคารถยนต์เป็นเกณฑ์ 4.การรับประกันแบตเตอรี่ กำหนดค่าเสื่อมลดลงปีละ 10% แต่หากเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ ขอเพิ่มความคุ้มครองได้ จากเดิมจ่ายตามจริงโดยไม่มีการกำหนดค่าเสื่อม

และ 5.คุ้มครองทุกภัยเหมือนรถทั่วไป แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อระบบปฏิบัติการที่ใช้ควบคุมการทำงานของรถ (Software) และไม่คุ้มครองความเสียหายจากเครื่องชาร์จรถอีวีส่วนบุคคลที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตรถ

เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันอีวี

เบี้ยอีวีแพงกว่าสันดาป 15%

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พัฒนาการของเบี้ยประกันภัยรถอีวีในประเทศไทย เริ่มในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งกรณีรถอีวีจีน ค่าเบี้ยจะแพงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 25-30% แต่พอปลายปี 2565 เบี้ยอีวีขยับลง 5-10% ทำให้ส่วนต่างเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20-25% และปี 2566 เบี้ยขยับลงมาตลอด ถ้าเทียบในรถยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันค่าเบี้ยก็ลดลง

ทั้งนี้จนถึงปลายปี 2566 เบี้ยรถอีวีแพงกว่ารถยนต์สันดาปอยู่ประมาณ 10-15% เหตุผลหลักคือ มีจำนวนรถอีวีในตลาดเพิ่มมากขึ้น และมีบริษัทประกันวินาศภัยเข้ามาแข่งขันในตลาดรถอีวีมากขึ้นด้วย ตอนนี้มีประมาณ 22 บริษัทแล้วที่มีการรับประกันรถอีวี อย่างไรก็ดี ยังเป็นการเสนอขายประกันภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์แบบเก่า แต่หลังจากวันที่ 31 พ.ค. 2567 ทุกบริษัทจะต้องปรับแบบกรมธรรม์สำหรับรถอีวี เป็นแบบใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ คปภ.ออกหลักเกณฑ์ ซึ่งคาดว่าไม่มีผลทำให้ค่าเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน

“ประเมินว่าแนวโน้มในอนาคตเบี้ยประกันรถอีวีจะลดลงอีก เมื่ออะไหล่ต่าง ๆ ที่ใช้ในรถอีวีผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ค่าเบี้ยรถอีวีจะยังแพงกว่ารถยนต์สันดาป 10-15% เหมือนเดิม ในระดับที่บริษัทประกันรับได้ เพราะต้องรองรับความเสี่ยงที่มีต้นทุนสูง ๆ อย่างเช่น ความเสียหายจากตัวแบตเตอรี่ ประกอบกับราคาอะไหล่ยังสูง เพราะต้องสั่งตรงจากต่างประเทศ และช่างฝีมือยังมีน้อย อู่ซ่อมยังต้องเป็นอู่ห้าง (ซ่อมศูนย์) ยังไม่ได้รับอนุมัติจากศูนย์ให้ซ่อมอู่ข้างนอกได้ โดยตอนนี้อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) อยู่ที่ระดับกว่า 50%”

เทรนด์อีวีแรงดันพอร์ตประกัน

นายอาภากรกล่าวว่า ช่วงปีแรก ๆ ที่เบี้ยรถอีวีค่อนข้างแพง เพราะมีผู้ทำประกันน้อย จึงมีสถิติการเฉลี่ยภัยน้อย ทำให้ต้นทุนรถอีวีไม่นิ่ง ขยับสูง-ต่ำอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนรถยนต์สันดาปที่มีรถเป็นล้าน ๆ คัน เฉลี่ยภัยออกมาแล้วมีต้นทุนที่นิ่งกว่า และช่วงแรกบริษัทประกันไม่มีประสบการณ์ ประกอบกับหลาย ๆ เหตุการณ์ที่รถอีวีประสบเหตุก็ล้วนมีต้นทุนสูงกว่าปกติ เช่น ความเสียหายกระทบตัวแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเหตุเบาหรือหนัก ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทั้งหมด ทำให้อัตราค่าสินไหมทดแทนค่อนข้างสูงมาก เพราะมูลค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 50-60% ของราคารถอีวี

ขณะที่เทรนด์รถอีวีมาแน่ ๆ เพราะรัฐบาลส่งเสริม และอีกปัจจัยที่ทำให้เห็นเด่นชัดถึงพัฒนาการคือ ในปี 2567 เริ่มมีการตั้งโรงงานเป็นฐานการผลิตรถอีวีในประเทศไทย ราคารถและอะไหล่จะถูกลง มีศูนย์บริการชาร์จแบตเตอรี่ การซ่อม และช่างฝีมือที่มากขึ้น ฉะนั้นอีโคซิสเต็มทุกอย่างจะพร้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวี เพราะมีค่าใช้จ่ายระหว่างปีลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ตลาดประกันภัยรถอีวีก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

ประกันอีวียึดดู “ประวัติคนขับ”

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างเบี้ยประกันรถยนต์สันดาป จะยึดประวัติตัวรถเป็นหลัก และไม่บังคับระบุชื่อผู้ขับขี่ ทำให้รถที่ใช้ในท้องตลาดกว่า 90% ไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ เมื่อเกิดเคลม และโดนปรับขึ้นค่าเบี้ยในใบเตือนต่ออายุ ลูกค้าจะย้ายประกัน บริษัทประกันใหม่ที่รับงานก็จะไม่รู้ประวัติคนขับ เวลาโค้ดเบี้ยจึงยึดตามประวัติตัวรถ ซึ่งลูกค้าจะได้เบี้ยเฉลี่ยไปเสมอ

โดยต่อไปภายใต้โครงสร้างเบี้ยประกันรถอีวี ยึดที่ประวัติคนขับ (ตัวบุคคล) จะทำให้เบี้ยมีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน เพราะบริษัทประกันที่รับงานก็จะขอความยินยอม (Consent) จากลูกค้า เพื่อไปขอประวัติจากฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) เพื่อโค้ดเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของตัวบุคคลได้ ฉะนั้นหากขับดีและไม่มีเคลม เบี้ยจะต่ำกว่าโครงสร้างรถยนต์สันดาปมาก

เพราะจะได้ส่วนลดประวัติดี 2 เด้ง ทั้งจากตัวบุคคล ปีละ 10% สูงสุดได้ถึง 50% และจากตัวรถสูงสุดได้ 40% ตามโครงสร้างเดิม แต่ในทางกลับกันถ้าขับไม่ดี มีเคลมเรื่อย ๆ เบี้ยก็จะแพงขึ้น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ขอย้ำว่าส่วนลดเบี้ยจะไม่ใช่ส่วนลดจากเบี้ยที่จ่ายปีที่แล้ว เพราะวิธีการคำนวณจะมีเบี้ยประกันภัยพื้นฐานเป็นตัวตั้งต้น และนำ “ส่วนลด-ส่วนเพิ่ม” ประวัติผู้ขับขี่ จากกรณีขับดีขับไม่ดีมาคำนวณ ถึงจะกลายเป็นค่าเบี้ยประกัน

เมืองไทยผนึก “BYD-AION”

นายวาสิตกล่าวอีกว่า ตอนนี้เบี้ยรถอีวียังแพงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 10-15% แต่ความรู้สึกของเจ้าของรถยังไม่รู้ เพราะปีแรกเป็นเบี้ยแถมทั้งหมด (ค่ายรถทำแคมเปญแถมประกัน) จนถึงต่ออายุปีที่ 2 ต้องจ่ายเอง ภายใต้โครงสร้างเบี้ยใหม่ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันรถอีวี

สำหรับแผนธุรกิจของเมืองไทยประกันภัยในปี 2567 จะลุยตลาดอีวีเต็มที่ เพราะตอนนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อ (Panel) ของพันธมิตรบริษัทผู้รับประกันรถอีวี 2 ค่ายคือ BYD (1 ใน 5 บริษัทประกันพันธมิตร) และ AION ฉะนั้นบริษัทจะได้งานจากส่วนนี้ ขณะเดียวกันจะเข้าไปขยายผ่านช่องทางตัวแทนนายหน้า (โบรกเกอร์) สำหรับงานต่ออายุให้มากขึ้นด้วย

โดยปิดปี 2566 พอร์ตเบี้ยรถอีวียังไม่มาก มีเบี้ยรับรวมแค่ 50-70 ล้านบาท รถไม่ถึงพันคัน เนื่องจากเพิ่งเข้าร่วม BYD ไม่กี่เดือน แต่ปี 2567 คาดหวังจะมีเบี้ยหลายร้อยล้านบาท จำนวนรถหลายพันคัน จากรถขายใหม่และงานต่ออายุ

แข่งราคาไม่ถึงขั้นสงคราม

นายวาสิตกล่าวถึงประเด็นเรื่องสงครามราคา เพื่อแย่งพอร์ตอีวีว่า ปัจจุบันลักษณะของการตัดราคาเบี้ยประกัน จะเป็นการแข่งขันของบริษัทประกันเพื่อเข้าไปอยู่ในรายชื่อของค่ายรถ สำหรับการทำแคมเปญแถมประกัน ซึ่งในแง่นี้ผู้บริโภคไม่รู้สึกเพราะเป็นเบี้ยแถม แต่บริษัทประกันภัยรู้กัน ส่วนเบี้ยต่ออายุ ผู้บริโภคหรือโบรกเกอร์เห็นนั้น เชื่อว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังพอรับได้

“ตอนนี้บริษัทประกันวางมาตรฐานของราคาเบี้ยแตกต่างกัน เช่น บางรุ่นบางยี่ห้อ บริษัท A ให้ 28,000 บาท/ปี แต่บริษัท B อาจจะให้ 25,000-27,000 บาท/ปี แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดเป็นสงครามราคา เพราะแต่ละบริษัทมีสถิติแตกต่างกัน บางบริษัทสถิติน้อย ก็มีความหวังจากสมมุติฐาน ก็อาจจะ Aggressive โค้ดราคาเบี้ยต่ำกว่าคู่แข่ง ขณะที่บริษัทใหญ่ที่รับงานอีวีเยอะแล้ว เห็นสถิติเยอะ เขาก็อาจจะรู้ว่าอัตราการสูญเสียมีต้นทุนสูง จึงขยับเบี้ยขึ้นไปให้เหมาะสม ทำให้เบี้ยจะแพงกว่า”

นายวาสิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องต้นทุนการซ่อมของรถอีวี เพราะด้วยความใหม่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เวลาซ่อมมักจะเปลี่ยนใหม่หมด ซึ่งอะไหล่ยังนำเข้าจากต่างประเทศ และยังเป็นงานซ่อมศูนย์ทั้งหมด ทำให้ต้นทุนสูง

ปี’67 ประกันอีวี 1 แสนฉบับ

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในปี 2567 สมาคมได้ประมาณการว่าจะมีรถอีวีเข้าสู่ระบบประกันจำนวน 100,000 กรมธรรม์ ตามคาดการณ์ยอดขายรถอีวีใหม่เพิ่มขึ้น 100,000 คัน ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เบี้ยรับรวมของประกันวินาศภัยอยู่ที่ 301,050-303,900 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์) เติบโต 5-6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

“ส่วนพอร์ตรถอีวีทั้งระบบในปีที่แล้ว มีเบี้ยรับรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท”

ตอนนี้จะเห็นค่ายรถแข่งขันกันมาก โดยเฉพาะค่ายอีวีจีนที่มีการทำตลาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ขณะเดียวกันค่ายรถอีวียุโรปและญี่ปุ่น ก็เริ่มจะมีแนวโน้มเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นปีนี้ตลาดนี้น่าจะคึกคักแน่นอน

ห่วงต้นทุนซ่อม EV สูง

นายสมพรกล่าวว่า สมาคมค่อนข้างมีความกังวล เพราะเมื่อรถอีวีมีการทำประกันภัยเพิ่มขึ้นมาก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว โอกาสแบตเตอรี่จะได้รับความเสียหายมีค่อนข้างสูง จึงได้พูดคุยกับบริษัทประกันที่เป็นสมาชิกอยู่ตลอดว่า ต้องมีความระมัดระวังในการทำอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสม

เนื่องจากได้ตรวจสอบข้อมูลการรับประกันรถอีวีทั่วโลก ปรากฏว่าในอเมริกาเริ่มมีปัญหา เพราะมีต้นทุนการซ่อมบำรุงและค่าสินไหมที่สูงมาก ทำให้เบี้ยประกันรถอีวีในอเมริกาเฉลี่ยสูงกว่ารถสันดาปถึง 30% และมีแนวโน้มจะเป็นลักษณะนี้ต่อไป ขณะที่เบี้ยประกันรถอีวีในประเทศไทยยังไม่สูงกว่ารถสันดาปอย่างมีนัยสำคัญ

หวั่น “ตัดราคาเบี้ย” จุดเสี่ยงธุรกิจ

ด้านนายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่า ตอนนี้อัตราเคลมสินไหมของรถอีวีในประเทศไทย อาจยังไม่ใช่ตัวสะท้อนความเสียหายที่แท้จริง เนื่องจากการใช้งานรถยังน้อย จึงมีความเสียหายต่ำอยู่ นำไปสู่การตัดราคาเบี้ย แต่ในระยะยาวจะไม่ส่งผลดีหากความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งจะสะท้อนความเสียหายที่แท้จริง นี่คือจุดเสี่ยงของภาคธุรกิจ

โดยเมื่อเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) ต้องถือว่ามูลค่าซากของรถอีวีต่ำมาก เพราะมีชิ้นส่วนอะไหล่น้อย แบตเตอรี่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่เหมือนรถสันดาปที่นำชิ้นส่วนกลับมาใช้เป็น Second Hand ต่อได้

นอกจากนี้รถอีวีเป็นรถอิเล็กทรอนิกส์มีเซ็นเซอร์มาก ถ้าคนที่เคยขับจะเห็นว่าการออกตัวของรถอีวีค่อนข้างเร็วกว่ารถสันดาป เพราะฉะนั้นการขับที่ไม่คุ้นชินหรือการขับขี่โดยผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายสูง

“ลอสเรโชของรถอีวีปีแรก ๆ มีสัดส่วนแค่ 10% ต่อมาขยับขึ้นมาอยู่ 30% และปี 2566 ขึ้นมาเกือบแตะ 60% ไปแล้ว อย่างไรก็ดี เคลมสินไหมรถอีวีของบริษัทปิดช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 55% และคาดว่าสรุปถึงสิ้นปี 2566 จะยังไม่เกิน 60%”

ถอนตัวร่วมแคมเปญเสี่ยง

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายรับประกันรถอีวีของบริษัท พยายามใช้ข้อมูลตลาดสากลเป็นพื้นฐานในการอ้างอิงกำหนดเบี้ย และจัดสรรประกันภัยต่อในรูปแบบของโควตาแชร์ เนื่องจากการรับประกันรถอีวีในประเทศไทยยังมีสถิติไม่มากพอ โดยปิดสิ้นปี 2566 คาดว่าพอร์ตรับประกันรถอีวีน่าจะอยู่ประมาณ 10,000 คัน คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 10% ของรถอีวีที่จดทะเบียน โดยพอร์ตงานในมือประกอบด้วยแบรนด์ BYD, MG, ORA GOOD CAT, BMW, Tesla, Audi, Porsche

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่ามาร์เก็ตแชร์จะลดลงเหลือ 7% เนื่องจากบริษัทจะไม่เข้าร่วมแคมเปญเบี้ยประกันภัยคงที่ 2 ปี กับพันธมิตรบางราย (ต่ออายุอัตโนมัติ 2 ปี ด้วยเบี้ยเท่าเดิมเพื่อจูงใจลูกค้า) เนื่องจากกังวลว่าจะไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่มีการทำตลาดประกันอีวีรายใหญ่ ๆ อาทิ วิริยะประกันภัย, ทิพยประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, ธนชาตประกันภัย, เมืองไทยประกันภัย และแอลเอ็มจีประกันภัย เป็นต้น