ยื่นภาษีปี 2567 เพิ่งยื่นแบบครั้งแรก ต้องทำอย่างไร

ภาษี

เปิดวิธียื่นภาษี 2567 สำหรับมือใหม่ทำตามได้ด้วยตัวเอง เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นภาษี ขั้นตอนการสมัคร การหักลดหย่อนภาษีแบบอัตโนมัติทำอย่างไร สรุปอย่างเข้าใจง่ายไว้ที่นี่

วันที่ 17 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2566 ที่ต้องยื่นช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน และหากยื่นผ่านออนไลน์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 โดย “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปวิธียื่นภาษีออนไลน์ปี 2567 เพื่อเป็นแนวทางในการ ยื่นภาษี 2566 สำหรับมือใหม่อย่างเข้าใจง่าย ดังนี้

ทั้งนี้ แบบแสดงรายการภาษีที่บุคคลธรรมดาทั่วไปต้องยื่น เรียกว่า ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้แค่เงินเดือนประจำเท่านั้น จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 หากมีรายได้จากแหล่งอื่นให้ยื่นเป็น ภ.ง.ด.90

เอกสารที่ต้องเตรียมในการยื่นภาษี

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ จากบริษัท ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุว่าในปีนั้น ๆ เรามีรายได้รวมเท่าไหร่ มีการหักภาษีล่วงหน้าเท่าไหร่บ้าง
  • รายการลดหย่อนภาษีของทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา หรือบุตร
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี จำนวนเงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ

วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2566 สำหรับมือใหม่

1.เริ่มแรกเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

  • เมื่อเข้าเว็บไซต์แล้ว ให้เรากดปุ่ม “สมัครสมาชิก”

2.กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน

  • กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลักและติ๊กถูกในช่อง “ฉันไม่ใช่โปรแกรมอัตโนมัติ” เพื่อยืนยันว่าเราไม่ใช่ Robot

3.กรอกข้อมูลส่วนตัว

  • โดยระบบจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน/เดือน/ปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ อีเมล์ พร้อมสร้างรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบ e-Filing สำหรับยื่นภาษีออนไลน์

4.เข้าสู่ระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร

  • เข้าสู่ระบบ e-Filing โดยการกรอกเลขบัตรประชาชนในช่องชื่อผู้ใช้งาน พร้อมกรอกรหัสผ่าน และกด “ตกลง” จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP 6 หลัก ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ

5.เลือกยื่นแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90/91

  • อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร จากนั้นกด “เข้าสู่ระบบ” และเลือก “ยื่นแบบ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91

กรณีที่ต้องการใช้ข้อมูลในระบบ My Tax Account ในการดึงข้อมูลค่าลดหย่อนอัตโนมัติให้เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/authen/MTA2 หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบ โดยระบบจะแสดงหน้าจอรายละเอียดของข้อมูลผู้มีเงินได้ ให้ตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

จากนั้นกด “ตรวจสอบข้อมูลและยื่นแบบ” ระบบจะแสดงข้อมูลค่าลดหย่อน ทั้งหมดคือ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว การออมและการลงทุน ดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัย มาตรการช้อปดีมีคืน และเงินบริจาค จากนั้นกด “ยื่นแบบโดยใช้ข้อมูล” เมื่อกดแล้วระบบจะกลับเข้าหน้า ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91

6.ระบุข้อมูลตามแหล่งที่มาของรายได้

  • ระบบจะแสดงหน้ารายได้ต่าง ๆ โดยแยกตามแหล่งที่มาของรายได้ เช่น รายได้จากเงินเดือน, รายได้จากฟรีแลนซ์, รายได้จากทรัพย์สิน, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดกหรือได้รับมา

สำหรับขั้นตอนนี้ หากเป็นพนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือน ให้เลือกรายได้จากเงินเดือน คลิกที่ “ระบุข้อมูลช่อง 40(1)” จากนั้นระบบจะให้กรอกข้อมูลดังนี้

  • รายได้ทั้งหมด ให้รวมรายได้จากทุกนายจ้าง จากทุกบริษัทที่เข้าทำงานตลอดปี 2566 แล้วกรอกเลขเดียว
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้รวมภาษีที่นายจ้างแต่ละที่หัก แล้วกรอกเลขเดียว
  • เลขผู้จ่ายเงินได้ คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนายจ้าง หากรับเงินจากหลายนายจ้าง ให้กรอกเลขของนายจ้างที่จ่ายให้เรามากที่สุด
  • เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คลิก “บันทึก”

ทั้งนี้ หากมีรายได้อื่น ๆ ให้กรอกไล่ไปทีละข้อ โดยควรคำนวณตัวเลขให้พร้อม ก่อนเริ่มยื่นภาษีออนไลน์

เมื่อบันทึกรายได้แต่ละข้อเสร็จ ระบบของกรมสรรพากรจะพากลับไปที่หน้ารายได้เหมือนเดิม ขั้นตอนนี้แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

7.กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีของปี 2566 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
    ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
    ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท
    ค่าลดหย่อนภาษีบุตร 30,000 บาท (เพิ่มอีก 30,000 บาท สำหรับบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป)

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน

  • ลดหย่อนเงินประกันสังคมไม่เกิน 9,000 บาท
  • ลดหย่อนประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • ลดหย่อนกองทุน RMF ไม่เกิน 500,000 บาท
  • ลดหย่อนกองทุน SSF ไม่เกิน 200,000 บาท

*ค่าลดหย่อนกองทุน RMF และ SSF รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

  • ลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • ลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา และการบริจาคสาธารณะ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • ลดหย่อนเงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

  • ลดหย่อนโครงการช้อปดีมีคืน ไม่เกิน 40,000 บาท
    ลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท

ระบบจะดำเนินการคำนวณค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษี ออกมาเป็น “เงินได้สุทธิ” ซึ่งจะถูกนำไปคำนวณภาษี

8.ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด

9.กดยืนยันการยื่นแบบ

  • เสร็จสิ้นการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องอัพโหลดเอกสารค่าลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อความรวดเร็วในการขอคืนภาษี