ซิตี้แบงก์ มอง กนง. ตรึงดอกเบี้ยยาว 2 ปีที่ระดับ 2.50% ชี้ เก็บกระสุนรับความเสี่ยง

ซิตี้แบงก์

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเมิน กนง.คงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปีไปอีก 2 ปี หรือภายในปี 2568 หลังมองเศรษฐกิจฟื้นตัว-เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย หวังเก็บกระสุนรองรับความไม่แน่นอน-รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.6% อานิสงส์ท่องเที่ยว-การผลิตฟื้นตัว ด้านเฟดลดดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวมทั้งปี 1.25% ชี้ ตลาดหุ้นไทยกลับมาน่าสนใจ ดัชนีอยู่ที่ 1,527 จุด แนะลงทุนกลุ่ม REIT-โรงพยาบาล-นิคมอุตสาหกรรม

วันที่ 18 มกราคม 267 นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ที่ระดับ 3.6% และในปี 2568 อยู่ที่ 3.5%

โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อนข้างต่ำ แต่ไม่ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แต่เป็นผลมาจากมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ แต่คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยภาพรวมอัตราเงินเฟ้อปี 2567 จะอยู่ที่ 1.7% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.2%

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีความเสี่ยงปรับขึ้นและลงตามทิศทางเศรษฐกิจและราคาพลังงาน แต่มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปีไปจนถึงปี 2568

เนื่องจาก ธปท.ต้องการรักษาศักยภาพการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ไว้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ภายใต้กรอบ 3 ด้าน ได้แก่ เสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพราคา และเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี โอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธนาคารมองว่าสาเหตุหลักจะมาจากประเด็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามคาด เช่น กรณีมองศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3-4% หรือเฉลี่ยราว 3.3-3.5% แต่หากจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัวไม่ถึง 3% ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำพอสมควร เนื่องจากฐานปีก่อนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น มีโอกาสที่ กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยได้ แต่เชื่อจากภาพรวมเศรษฐกิจยังฟื้นตัว เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกขยายตัวดีขึ้น

“เรามอง กนง.จะคงดอกเบี้ยอย่างน้อยไปอีก 2 ปี เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 8 ไตรมาส แม้ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4/66 จะออกมาต่ำกว่าคาด แต่เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่เชื่อว่าจีดีพีไตรมาส 4 เทียบไตรมาส 3/66 น่าจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ

และในปีนี้เองจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจชะลอ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำนิด ๆ ที่กว่า 1% ทำให้ กนง.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพราะ ธปท.ไม่อยากเห็นดอกเบี้ยต่ำเกินไปจะทำให้เกิดการก่อหนี้มากเกินไป”

นางสาวนลินกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ระดับ 3.6% จะเห็นภาคการส่งออกขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้อยู่ที่ระดับ 3.3% และในระยะยาวจะกลับมาขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 3-5% ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 35.2 ล้านคน จะเป็นคนจีนจำนวน 6.6 ล้านคน อาจจะต่ำกว่าที่ทางการประเมินไว้ที่ 8 ล้านคน อย่างไรก็ดี จะเห็นการฟื้นตัวในกลุ่มประเทศที่มีตลาดเล็ก เช่น ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนอาจจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นกว่าประมาณการหลังจากมีมาตรการฟรีวีซ่า

ขณะที่การบริโภคจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.4% จากปีก่อนอยู่ที่ 7.4% ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับระยะยาวของไทย อย่างไรก็ดีมีปัจจัยการจ้างงานและค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาสนับสนุนการเติบโต ด้านการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.8% และการลงทุนภาคเอกชน 3.1% ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมถึงการขยายการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์อีวี ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการค้าโลกที่ทยอยฟื้นตัว

“จีดีพี 3.6% เรายังไม่ได้รวมเรื่องของดิจิทัลวอลเลตเข้าไป เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากกรณีทำได้คาดว่าจะมีผลต่อกับเศรษฐกิจประมาณ 0.5-0.6% ตามการคาดการณ์ของ ธปท. อย่างไรก็ดี หากไม่มีดิจิทัลวอลเลต ก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐออกมาช่วยสนับสนุน ซึ่งยังมีเงินงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้”

นางสาวโจฮันน่า ฉัว หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเอเชีย-แปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งที่ระดับ 0.25% ภายในเดือนมิถุนายน 2567 และคาดว่าทั้งปีจะลดจำนวน 5 ครั้ง หรืออยู่ที่ 1.25% ซึ่งจากทิศทางการปรับดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ตลาดเอเชียน่าสนใจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะฟื้นตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 4.6% สอดคล้องกับความต้องการสินค้าและการผลิตที่เพิ่มขึ้น

นายสิทธิโชค เตชะศิรินุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2567 มองว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ลดลง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาแล้วกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและสนใจตลาดไทย โดยบริษัทคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) จะอยู่ที่ 1,527 จุด ซึ่งแนะนำการลงทุนในกลุ่ม ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กลุ่มโรงพยาบาลและความงาม นิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มการบริโภค เป็นต้น

นายแอนโทนี่ หยวน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจพลังงาน ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปี 2567 คาดว่าราคาจะปรับตัวย่อลง โดยราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยปัจจัยมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ไม่ได้ขยายตัวรุนแรง และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลง รวมถึงกลุ่ม OPEC ที่ไม่ได้มีการลดกำลังการผลิตเมื่อเทียบกับในอดีต อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น