SCBX กำไรปี’66 กว่า 4.3 หมื่นล้าน รายได้ดอกเบี้ยหนุน ลุยตั้งสำรองสูงรับมือหนี้เสีย

SCBX

เอสซีบี เอกซ์ ประกาศผลกำไรสุทธิประจำปี 2566 จำนวน 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่มากขึ้น หนุนรายได้จากการดำเนินเพิ่ม 10.8% พร้อมตั้งการ์ดรับมือหนี้เสียลุยตั้งสำรองกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9%

วันที่ 19 มกราคม 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX (หลักทรัพย์ SCB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทมีกำไรสุทธิของปี 2566 จำนวน 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะของอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดจะเกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมลดลง

ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานรวม 171,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 71,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 45.2% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยบริษัทได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 43,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากปีก่อน แสดงถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรอบคอบ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ทั่วถึง และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 160% เท่ากันกับปีที่แล้ว

คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัท อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.8% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 9.3%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด ภายใต้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ทั่วถึง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ตลอดจนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทเติบโตสินเชื่อผู้บริโภคแบบไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในอัตรา 24% จากปีก่อน

โดยมียอดสินเชื่อคงค้างในส่วนนี้จำนวนกว่า 165,000 ล้านบาท เป็นการตอบรับแนวนโยบายภาครัฐ เรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อย (financial inclusion) ของประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ของบริษัท ที่ให้ผลตอบแทนมั่นคง ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง ภายใต้สภาวะตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง

“สำหรับกลยุทธ์ในระยะต่อไป บริษัทจะเน้นการเติบโตธุรกิจจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และบริหารต้นทุนให้เหมาะสม บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อเป็นตัวจักรสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายการบริการลูกค้าอย่างทั่วถึง และสร้างมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง”