แบงก์ทยอยแจ้งงบฯ ปี’66 กำไรพุ่งตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ธนาคาร

แบงก์ทยอยแจ้งผลดำเนินงานปี 2566 รับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น “ธนาคารกรุงเทพ” กำไรทะลุ 4 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นกว่า 42% “กสิกรฯ” กำไร 4.2 หมื่นล้าน ตั้งสำรองสูงรับมือเศรษฐกิจไม่แน่นอน ขณะที่ “กรุงศรีฯ” กำไร 3.2 หมื่นล้าน โต 7.2% ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” กำไรลด เหตุต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น-แบกต้นทุนพุ่ง

วันที่ 19 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงวันที่ 18-19 ม.ค. เป็นกำหนดเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการแจ้งงบการเงินงวดปี 2566 โดยขณะนี้มีแบงก์ที่แจ้งแล้ว ดังต่อไปนี้

ธนาคารกรุงเทพกำไรโต 42.1%

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งว่า ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อน (YOY) จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 28.0% โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.02% สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ลดลง ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 18.5% ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่ 48.8%

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 18.1% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 มีจำนวน 33,666 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,671,964 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน
โดยมีสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีกลดลง สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 2.7%

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 314.7%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 3,184,283 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.9%

ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.6%, 16.1% และ 15.4% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

กสิกรไทย กำไร 4.2 หมื่นล. ตั้งสำรองสูง

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รายงานว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน อย่างไรก็ตาม  ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาตั้งสำรอง  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการลงทุนใบตราสารทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาด ผ่านนโยบายการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก รวมทั้งรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด แม้ว่าการเติบโตของเงินให้สินเชื่อชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมุ่งเน้นการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ

โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43.15%

รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 19,396 บาท หรือ 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ตามสภาวะตลาด ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังไม่ได้หักต้นทุนการบริหารจัดการหนี้ในเรื่องต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อเทียบกับฐานของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ มีอัตราผลตอบแทบ (NIM) อยู่ที่ 3.66%

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 3,950 บาท หรือ 9.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวบางส่วนของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 1,702 ล้านบาท หรือ 5.17% หลัก ๆ จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด

ผลขาดทุนค้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Los : ECL) ในปี 2566 มีจำนวน 51,840 นบาท ซึ่งยังเป็นการตั้งในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และเพื่อดูแล ช่วยเหลือ เสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้า เพิ่มความความยืดหยุ่นในการจัดการคุณภาพสินทรัพย์
โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 152.23%

ค่าใช้ง่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 10,215 ล้านบาท หรือ 13.67% หลัก ๆ จากค่าใช้ง่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ตามปริมาณธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การให้บริการ และรองรับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลลูกค้า

นอกจากนี้ คำใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cast to Income Ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43.15%

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,283,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 37,187 ล้านบาท หรือ 0.88% หลัก ๆ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องตามปกติของธนาคาร รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาด ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ

ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนี้ การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับได้พิจารณาจากจำนวนที่คาดว่าจะได้รับจริง ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel II ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.41% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.44%

กรุงศรีฯ กำไร 3.2 หมื่นล้าน โต 7.2%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 32,929 ล้านบาท เติบโต 7.2% หรือ 2,216 ล้านบาท จากปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ผนวกกับการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวด ระมัดระวัง เพื่อความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์

เงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโต 3.5% ในปี 2566 หรือจำนวน 67,795 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจในประเทศ และสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยเฉพาะในส่วนที่มาจากบริษัทลูกในต่างประเทศ โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 11.3% สะท้อนการสนับสนุนความต้องการเงินทุนระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนของลูกค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมธุรกิจในต่างประเทศที่เพิ่งควบรวม เงินให้สินเชื่อรวมเติบโต 16,611 ล้านบาท หรือ 0.9% เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.9% หรือจำนวน 34,909 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำสุทธิ กับการลดลงของเงินฝากออมทรัพย์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นมาที่ 3.91% จาก 3.45% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น

โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตามรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 21.2% หรือ 6,920 ล้านบาท จากปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ โดยเฉพาะส่วนที่มาจากบริษัทลูกในต่างประเทศ รายได้จากการดำเนินงานอื่น และหนี้สูญรับคืน

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 44.5% เทียบกับ 43.8% ในปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.53% เทียบกับ 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยการตั้งสำรองสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 175 เบสิสพอยต์อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 149.1% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.24% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

ซีไอเอ็มบี ไทย สำรองพุ่งฉุดกำไรตก

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย รายงานว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,305.5 ล้านบาท หรือ 44.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 48.5% โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 163.3 ล้านบาท หรือ 1.7% เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน  โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 170.9 ล้านบาท หรือ 1.3% เป็น 13,771.6 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่น

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 782.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากรอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 2.6% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.7% เป็นผลจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น