แบงก์เร่งปรับระบบรับเกณฑ์ ธปท.คุมโฆษณาเงินกู้

เงินกู้

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศบังคับใช้เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ทำให้ธนาคารทุกแห่งต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะมีหลายเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เชื่อว่าธนาคารต่าง ๆ ปรับตัวกันมาสักพักแล้ว เพียงแต่ว่าแต่ก่อนจะเป็นการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันออกเป็นกฎหมายและมีบทลงโทษ โดยส่วนที่กระทบชัดเจนและเป็นเรื่องใหญ่สุด น่าจะเป็นเรื่องเกณฑ์การโฆษณา

เนื่องจากธนาคารต้องปรับถ้อยคำในการสื่อสารทางการตลาดทั้งหมด และทุกช่องทาง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนป้ายโฆษณาทั่วทั้งประเทศ โดยกสิกรไทยได้ทยอยทำแล้ว และคาดว่าภายในปลายเดือน ม.ค.นี้ น่าจะแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังต้องปรับระบบการคำนวณดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ปล่อยลูกค้ารายย่อย ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) เนื่องจากระบบเดิมคำนวณสินเชื่อดังกล่าว ในลักษณะดอกเบี้ยทบต้น

ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 เดือน และอาจจะต้องมีการทดสอบระบบการคำนวณสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าจะไม่น่าทันการบังคับใช้ที่ ธปท.กำหนดภายในเดือน ก.ค. 2567

“อย่างไรก็ดี กรณีถ้าปรับระบบการคำนวณดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยไม่ทัน แบงก์ก็อาจจะต้องขออนุญาต ธปท. 2 แนวทาง คือ 1.ลูกค้ารายเดิมที่ยังมีการเบิกใช้วงเงิน ธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยและคืนให้ในภายหลัง และ 2.ลูกค้ารายใหม่ อาจจะชะลอการปล่อยสินเชื่อประเภทวงเงิน O/D ไปก่อน ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้วงเงิน O/D จะอยู่ในกลุ่มที่ทำธุรกิจ SSME ซื้อมาขายไป หรือมีการจ่ายชำระเงินกับต่างประเทศ เป็นต้น”

ส่วนเกณฑ์การห้ามคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับการปิดชำระหนี้ก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะธนาคารไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้จากลูกค้ารายย่อยมานานแล้ว

“อาจจะเห็นยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่สะดุด หรือปรับลดลงในช่วงแรก เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และการมีเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้แบงก์ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะจะต้องพิจารณาในเรื่องเงินคงเหลือในการดำรงชีพ (Residual Income) ของลูกค้าด้วย เช่น รายได้ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะต้องเหลือเงินจำนวน 2,000 บาท หรือรายได้เกิน 1.5 หมื่นบาท จะต้องเหลือเงิน 5,000 บาท ซึ่งอาจจะทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น”

กราฟฟิกแก้หนี้

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารกำลังปรับโฆษณาและการสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงปรับกลยุทธ์ในการทำการตลาดหรือการให้ของรางวัลกับลูกค้าในการสมัครสินเชื่อ

และการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อว่ามาจากสาเหตุใด เช่น ภาระหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ หรือเอกสารไม่ครบ จึงไม่สามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้

“อย่างไรก็ดี แบงก์ได้ปรับตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว อาจจะไม่ถึงขั้นต้องลงทุนใหม่ แต่ยอมรับว่าอาจจะมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ ขณะที่การห้ามคิดค่าปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด หรือการห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ธนาคารไม่มีในส่วนนี้อยู่แล้ว จึงไม่น่ากระทบต่อรายได้มากนัก”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับระบบให้รองรับตามเกณฑ์ Responsible Lending ในส่วนของเรื่องใหญ่ ๆ เช่น การโฆษณา การแจกรางวัล หรือการกระตุ้น หรือเร่งรัดให้ลูกค้าใช้สินเชื่อ เป็นต้น เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ มองว่าเรื่องนี้มีผลกระทบ ทั้งในเชิงบวกและลบ อาจจะต้องรอประเมินผลกระทบในช่วง 6 เดือนข้างหน้าอีกครั้ง แต่เบื้องต้นการปรับเปลี่ยนการโฆษณา หรือการแจกรางวัลก่อนอนุมัติสินเชื่อ ก็จะช่วยสถาบันการเงินลดต้นทุนได้ และจะเห็นความต้องการสินเชื่อที่แท้จริง (Real Demand) มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนหนึ่งสมัครสินเชื่อเพื่อต้องการรับของ Premium ต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน

“เรื่องใหญ่เราทำตามเกณฑ์ของ ธปท.เกือบหมดแล้ว ซึ่งต้องรอประเมินผลอีกที ส่วนเรื่องหนี้เรื้อรัง เราก็อยู่ระหว่างให้ทีม Collection ดูข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด 1 เม.ย.นี้”

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวว่า เคทีซีไม่ได้มีการโฆษณา ให้ข้อมูล หรือข้อความที่ชวนกระตุ้นการใช้จ่ายเกินตัวอยู่แล้ว เช่น ช็อปร่างแหลก เป็นต้น อย่างไรก็ดี บริษัทได้เพิ่มข้อความ “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย” ในช่องทางต่าง ๆ ตามเกณฑ์ของ ธปท.แล้ว

“เราไม่มีเรื่องของการแจกรางวัล กระเป๋า หรือกิจกรรมที่จูงใจลูกค้าให้สมัครก่อนอยู่แล้ว ทำให้ในส่วนนี้เราไม่ได้มีปัญหา แต่จะมีเรื่องของข้อความที่ ธปท.กำหนดเพิ่มเติม ซึ่งเราต้องทำส่วนนี้เพิ่มเติม”