ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ 59 วัน มูลหนี้ 9,186 ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,702 ราย

ลงทะเบียน แก้หนี้นอกระบบ ออนไลน์ debt.dopa.go.th

ปลัด มท. เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ วันที่ 59 ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,616 ราย มูลหนี้ 9,186 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,702 ราย มูลหนี้ลดลง 636 ล้านบาท กรุงเทพมหานคร ยังคงแชมป์ผู้ลงทะเบียนสูงสุด

วันที่ 29 มกราคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 59 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 9,186.339 ล้านบาท

ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,616 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 112,300 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 20,625 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 102,731 ราย

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,080 ราย เจ้าหนี้ 7,432 ราย มูลหนี้ 814.587 ล้านบาท
  2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,534 ราย เจ้าหนี้ 5,021 ราย มูลหนี้ 373.615 ล้านบาท
  3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,034 ราย เจ้าหนี้ 3,899 ราย มูลหนี้ 328.719 ล้านบาท
  4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,812 ราย เจ้าหนี้ 3,492 ราย มูลหนี้ 384.538 ล้านบาท
  5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,571 ราย เจ้าหนี้ 2,403 ราย มูลหนี้ 296.202 ล้านบาท

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

  1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 218 ราย เจ้าหนี้ 229 ราย มูลหนี้ 12.712 ล้านบาท
  2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 303 ราย เจ้าหนี้ 218 ราย มูลหนี้ 20.785 ล้านบาท
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 355 ราย เจ้าหนี้ 277 ราย มูลหนี้ 13.059 ล้านบาท
  4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 431 ราย เจ้าหนี้ 324 ราย มูลหนี้ 17.844 ล้านบาท
  5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 465 ราย เจ้าหนี้ 338 ราย มูลหนี้ 23.525 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 15,362 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,702 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 1,556.153 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 919.596 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 636.557 ล้านบาท

และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด ยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,042 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 188 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 236.342 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 13.922 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 222.420 ล้านบาท

“สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 165 คดี ใน 31 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ใช้กลไกระดับพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุด ควบคู่การจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้”

โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบ ซึ่งได้รับการดูแลตามกฎหมายควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเปิดรับลงทะเบียนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย