CIMBT หั่นวงเงินบัตรเงินสด ชูโมเดลลดต้นทุนตั้งสำรองเกณฑ์บัญชีใหม่

ภาพ Pixabay

CIMBT ปรับโมเดลสินเชื่อ หั่นวงเงินอนุมัติบัตรกดเงินสด หวังลดภาระตั้งสำรองตามมาตรฐาน IFRS9 โอดถูกบังคับตั้งสำรอง แม้วงเงินอนุมัติลูกค้ายังไม่เบิกใช้ ประเมินสถาบันการเงินทั้งระบบมีภาระตั้งสำรองเพิ่ม 30%

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เพื่อปรับตัวรับมือกับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ธนาคารจึงได้ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อบริหารต้นทุนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบุคคล (พีโลน) ที่ต้องปรับลดวงเงินอนุมัติสินเชื่อลง เป็นต้น เนื่องจากเกณฑ์ IFRS9 จะทำให้ธนาคารต้องเผื่อสภาพคล่องและตั้งสำรองเพิ่มเติมในส่วนของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารอนุมัติไปแล้วทั้งหมด แม้วงเงินดังกล่าวลูกค้าจะยังไม่มีการเบิกใช้ก็ตาม

“ยกตัวอย่าง เช่น หากธนาคารอนุมัติบัตรกดเงินสด โดยให้วงเงิน 5 แสนบาท แต่ลูกค้าเบิกใช้แค่ 1 แสนบาท ธนาคารก็ต้องเผื่อสภาพคล่องไว้ รองรับลูกค้าใช้วงเงินเต็มด้วย และธนาคารยังต้องตั้งสำรองในส่วนวงเงินที่ลูกค้าจะมีการเบิกใช้ในอนาคตด้วย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนสำหรับธนาคาร ทำให้ธนาคารต้องปรับโมเดลใหม่” นางสาวอรอนงค์กล่าว

นางสาวอรอนงค์กล่าวว่า มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 นั้นจะส่งผลให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาระตั้งสำรองที่จะเพิ่มขึ้นราว 30% จากภาระการตั้งสำรองในปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์บัญชีใหม่บังคับให้ต้องตั้งสำรองจากการคาดการณ์และโอกาสที่จะเกิดเป็นหนี้เสียในอีก 12 เดือนข้างหน้า และต้องตั้งสำรองความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียให้ครอบคลุมไปตลอดอายุสัญญาเงินกู้ด้วย

ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารได้ออกสินเชื่อบุคคลบัตรกดเงินสดเอ็กซ์ตร้าแคช (ExtraCash) ที่คิดอัตราดอกเบี้ย 7.3% ต่อปี เป็นเวลา 12 รอบบัญชี (งวด) และตั้งแต่รอบบัญชีที่ 13 เป็นต้นไป จะคิดดอกเบี้ยที่ 14.60% โดยบัตรกดเงินสดเอ็กซ์ตร้าแคชดังกล่าว กำหนดวงเงินอนุมัติที่ 50,000 บาท/บัตร สำหรับผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป ซึ่งโปรดักต์นี้จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนที่ถูกลง เพราะเป็นการอนุมัติวงเงินเดียว ทำให้แบงก์ไม่ต้องตั้งสำรองสูงมากตามเกณฑ์ใหม่

“เอ็กซ์ตร้าแคชนี้จะทำให้ต้นทุนแบงก์ลด ก็ถือเป็นผลพลอยได้ แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้หวังจะลดต้นทุนจากโปรดักต์นี้เป็นหลัก โดยสิ่งที่เราคิดคือ ทำอย่างไรผู้บริโภคจะได้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะการให้วงเงินสูงเกินไป หากลูกค้าไม่ใช้ก็เป็นการจ่ายดอกเบี้ยสูง เนื่องจากสินเชื่อบุคคลมีการคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวคือกว่า 20% แต่โปรดักต์นี้ออกแบบออกมาสำหรับลูกค้าที่จะใช้วงเงินจำกัดจริง ๆ และให้ดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วยแค่ 7.3% เท่านั้น” นางสาวอรอนงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการจำกัดวงเงินอนุมัติลง แต่อีกด้านธนาคารก็ได้พัฒนาระบบให้ทำงานรวดเร็วมากขึ้น เพื่อรองรับการขอวงเงินฉุกเฉินของลูกค้าในอนาคตด้วย

นางสาวอรอนงค์กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (กลาง เม.ย. 2561) ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อบุคคลใหม่แล้ว 1.8 พันล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2561 นี้จะมียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อบุคคลคงค้างที่ 1.3 หมื่นล้านบาท