ประวัติ มณเฑียร เจริญผล ได้รับคัดเลือกเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง. คนใหม่

มณเฑียร เจริญผล

เปิดประวัติ มณเฑียร เจริญผล ผู้ได้รับคัดเลือกเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง. คนใหม่

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้เห็นชอบให้นายมณเฑียร เจริญผล เป็นผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คนใหม่แทน นายประจักษ์ บุญยัง ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ จะมีการเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ประวัติการทำงาน

สำหรับนายมณเฑียร เจริญผล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ปี 2543-2544 และ 2556-2560), อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (อนุ คตช.), กรรมการสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, อนุกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช., อนุกรรมการ ปปง. สำนักงาน ปปง., ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 (ระดับ 10) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, กรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กระทรวงการคลัง/สำนักงานอัยการสูงสุด/รัฐสภา

นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองงานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของรัฐ, อนุกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อก.ตง.), กรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง, กรรมการพิจารณารางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง, อนุกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงินรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,

กรรมการประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ, กรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ, กรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วุฒิสภา, ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร, ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์การตรวจเงินแผ่นดิน จำกัด, ประธานกรรมการสวัสดิการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

เกียรติประวัติ

ข้าราชการพลเรือนดีเด่นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2544, เหรียญเชิดชูเกียรติ จากสถาบันพระปกเกล้า ปี พ.ศ. 2552 และ 2556, รางวัลกัลยาณมิตรกรมบัญชีกลาง ปี 2559, ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) ของ สตง. และ ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer : CDO) ของ สตง.

การศึกษา/อบรม/ดูงาน

-บริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
-นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
-ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฏหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.58)
-หลักสูตรกระบวนการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (บยส.18)
-หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.3)
-หลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.ส)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

-มหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.)
-ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)