เงินเฟ้อสหรัฐ หนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย

ดอลลาร์

เงินเฟ้อสหรัฐ หนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (12/2) ที่ระดับ 35.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับเปิดตลาดวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 35.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนรอคอยการปรกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันอังคาร (13/2) เพื่อประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด

หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมกราคม

โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.1% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.4% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.3% ในเดือนมกราคม จากระดับ 0.2% ในเดือนธันวาคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2%

Advertisment

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.4% ในเดือนมกราคม จากระดับ 0.3% ในเดือนธันวาคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%

จากการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเดือนมิถุนายน จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนพฤษภาคม โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 37.3% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งลดลงจากระดับ 58% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI พร้อมกับให้น้ำหนัก 50.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ในวันพฤหัสบดี (15/2)

นายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโก กล่าวว่า เป้าหมายของเฟดในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ยังคงมีความเป็นไปได้ แม้ว่าเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่าคาดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และเขาไม่สนับสนุนให้เฟดรอจนกระทั่งตัวเลขเงินเฟ้อแตะระดับ 2% จึงจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ย สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง 0.8% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน

ขณะที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธันวาคม และเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.65% หลังจากปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนธันวาคม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี หลังจากลดลง 0.7% ในเดือนธันวาคม มีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง 1.3% ในเดือนมกราคม

Advertisment

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลง 2.4% ในเดือนมกราคม

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์เงินสะพัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท เนื่องจากมีหลายเทศกาลที่ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย รวมกับเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้จ่ายในไทย

โดยคาดว่าหากเดือน มี.ค. ยังมีตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และเดือน เม.ย. เงินงบประมาณจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามแผนที่กำหนดไว้ รวมกับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้น และราคาสินค้าเกษตรยังดีต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเย็นวันนี้ (15/2)

โดยรัฐบาลจะนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น และคณะกรรมการทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยจุดยืนของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้จะถือเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่

ส่วนที่ประชุมจะสามารถอนุมัติ พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ได้เลยหรือไม่นั้น ยังต้องรอการหารือกันก่อน ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.67-36.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 36.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/2) ที่ระดับ 1.0797/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 1.0764/68 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่า ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

แม้ว่าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 19.9 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 15.2 ในเดือน ม.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 17.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 7 โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อย่างไรก็ดี ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลงสู่ระดับ -81.7 ในเดือน ก.พ. จากระดับ -77.3 ในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ -79.0 ซึ่งบ่งชี้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย หรืออาจประสบภาวะถดถอย และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ขยายตัวถึง 2.6% มากกว่าคาดการณ์ที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.2%

โดยตัวเลขที่ปรับขึ้นมาได้แรงหนุนมาจาก Capital goods ที่ขยายตัวขึ้นมา 20.5% ส่วนประมาณการ GDP ไตรมาส 4/2566 เหมือนกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะโตขึ้น 0.1% เทียบรายปี และ 0% เทียบรายไตรมาส ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0693-1.0805 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 1.0758/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (12/2) ที่ระดับ 149.15/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 149.43/47 จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันที่ 9 ก.พ. ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป แม้เป็นช่วงเวลาที่ BOJ ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหลังจากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ BOJ ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน และแนะนำให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในวันอังคาร (13/2) ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงสู่ระดับ 160.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในวันพุธ (14/2) ค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังนายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการที่เหมาะสมต่อตลาดปริวรรตเงินตรา หากรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าเงินเยนอ่อนค่าลงรวดเร็วเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

และรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (15/2) ว่า GDP ไตรมาส 4/2566 ของญี่ปุ่น หดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจขยายตัว 1.4% หลังจากที่หดตัวลง 3.3% ในไตรมาส 3/2566 ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ส่งผลให้ตลาดไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษได้หรือไม่

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.911-150.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 150.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ