BKGI ลุยระดมทุนเข้า SET เล็งขายไอพีโอ 160 ล้านหุ้น รองรับแผนขยายธุรกิจ

ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล

บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น หรือ BKGI พร้อมระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เตรียมขายไอพีโอ 160 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.67% ภายในไตรมาส 1/67 รองรับแผนขยายธุรกิจการแพทย์จีโนมิกส์ สอดรับเมกะเทรนด์โลก

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) ประเมินว่า BKGI จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 160,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.67% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 1/2567

“BKGI จะเป็นหุ้นธุรกิจเทคโนโลยีไบโอเทครายแรกของไทย ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) และเป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจ โดยบริษัทนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกลุ่ม BGI  ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลก มาใช้ในการให้บริการ ทำให้ผลการวิเคราะห์ต่าง ๆ ของบริษัทมีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ ธุรกิจของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ ถือเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

เพราะสังคมไทยอยู่ในยุคสังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ และที่สำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้คนทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำให้ชื่อเสียงขององค์กร และแบรนด์ของ BKGI เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังช่วยเสริมฐานทุนให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต“ นายสมภพกล่าว

ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) ผู้ประกอบกิจการห้องปฏิบัติการ และให้บริการการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครั้งนี้ บริษัทฯเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับแผนการขยายธุรกิจ การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) หรือการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจกลไกของชีวิตเชิงลึก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคทางพันธุกรรม รวมทั้งการวางแผนดูแลสุขภาพชีวิต เพื่อป้องกันและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การให้บริการตรวจพันธุกรรมของ BKGI เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครอบคลุมทุกช่วงอายุในราคาที่เข้าถึงได้ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนการสมรส และช่วงระหว่างตั้งครรภ์โดยการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา ภายใต้แบรนด์ “NIFTY” และการตรวจคัดกรองพาหะของโรคทางพันธุกรรม ภายใต้แบรนด์ “VISTA” เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์และการมีบุตร และการตรวจคัดกรองสำหรับทารกแรกเกิด ภายใต้แบรนด์ “NOVA” รวมถึงบริการตรวจคัดกรองอื่น ๆ ที่สามารถตรวจได้ทุกช่วงวัย ภายใต้แบรนด์ “BGI-Xome” และการตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด

ภายใต้แบรนด์ “DNALL” เพื่อนำข้อมูลรหัสทางพันธุกรรมมาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เช่น การพยากรณ์ความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม และการวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น ครอบคลุมไปจนถึงวัยชราที่สามารถทำการตรวจคัดกรองยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ภายใต้แบรนด์ ”SENTIS” และการตรวจคัดกรองยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงระยะเริ่มต้น ภายใต้แบรนด์ “COLOTECT” เป็นต้น

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ นอกเหนือจากนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว เป้าหมายหลักของ BKGI คือการยกระดับมาตรฐานองค์กร สามารถตรวจสอบได้ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการของเรา ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล”

สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยเจริญพันธุ์ จำนวน 157.59 ล้านบาท คิดเป็น 84.06% ของรายได้จากการให้บริการ เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการเติบโต 31.71% เนื่องจากในปี 2565 ได้มีการทำการตลาดเกี่ยวกับการบริการมากขึ้น ส่งผลให้บริการดังกล่าว เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดรายได้ในส่วนนี้เติบโตขึ้นจากเดิม โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 25.51 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 13.29%

ทั้งนี้ BKGI ประกอบธุรกิจห้องปฏิบัติการ และให้บริการการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การตรวจวิเคราะห์ สังเคราะห์สารชีวภาพ ควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้อง รวมถึงประกอบกิจการสถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการและให้บริการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

โดยลักษณะการประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 2) การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการตรวจภูมิคุ้มกัน 3) การตรวจคัดกรองอื่น ๆ ได้แก่ การตรวจคัดกรองกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่น ๆ และ 4) การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี

2.ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (Other Products) อาทิ ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจ น้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์